วันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556


Assumption Cathedral
เขตบางรัก เจริญกรุง 40


ประวัติอาสนวิหารอัสสัมชัญ
I. ความเป็นมาของวัดอัสสัมชัญหลังแรก

                 ในปี ค.ศ.1809 คุณพ่อปาสกัล ซึ่งเป็นลูกหลานของชาวไทย-โปรตุเกส (บวชปี ค.ศ.1805) ได้รวบรวมเงิน 1,500 บาท ซึ่งได้บอกบุญกับบรรดาคริสตังและญาติพี่น้องมิตรสหายของท่าน คุณพ่อได้ถวายเงินจำนวนนี้แก่ คุณพ่อฟลอรังส์เพื่อจะได้สร้างวัดสักแห่งหนึ่งเป็นเกียรติแด่อัสสัมชัญของพระนางมหามารีอา วันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1810 คุณพ่อฟลอรังส์เขียนจดหมายถึงคุณพ่อเลอต็องดัลว่า เพื่อความมุ่งหมายดังกล่าว
                 "ข้าพเจ้าได้ซื้อที่ดินแปลงหนึ่งราคา 250 บาท คงจะต้องขยายสักหน่อยในภายหลัง เพื่อจะได้สร้างวัดให้สมกับความตั้งใจของผู้บริจาค เพื่อพระสิริมงคลของพระเป็นเจ้าและของพระนางมหามารีอา ที่ดินแปลงนี้อยู่ริมแม่น้ำฝั่งตรงข้ามวัดซางตาครู้สของเรา อยู่เหนือวัดของพวกกิสมาติ๊กเล็กน้อย" (ปัจจุบันคือวัดกาลหว่าร์)
                 วันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ.1810 คุณพ่อฟลอรังส์เขียนว่า"เวลานี้กำลังตระเตรียมที่ดินแปลงนี้เพื่อที่จะได้สร้างวัดแม่พระตามความปรารถนาของผู้ใจบุญที่ได้ถวายเงิน 1,500 บาทแล้วนั้น และซึ่งข้าพเจ้าได้รับเมื่อปีที่แล้วจากคุณพ่อปาสกัล" ปี ค.ศ.1810 พระสังฆราชการ์โนลต์ ได้แต่งตั้งคุณพ่อฟลอรังส์เป็นพระสังฆราชผู้สืบตำแหน่งแล้วพระสังฆราชการ์โนลต์ได้เดินทางไปวัดจันทบุรี ในโอกาสที่มีภคินีเชื้อสายญวนหลายรูปปฏิญาณตน และท่านได้สิ้นใจท่ามกลางกลุ่มคริสตชนนั้นในวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ.1811 เมื่อได้ทราบว่าพระสังฆราชการ์โนลต์ป่วยหนัก พระสังฆราชฟลอรังส์จึงได้เดินทางไปจันทบุรี
                 ที่สุดในปี ค.ศ.1820 พระสังฆราชฟลอรังส์ก็สามารถซื้อที่ดินทั้งหมด (สวนกล้วย) ตั้งแต่ที่ดินที่ตั้งสาม เณราลัยของมิสซังจนถึงริมแม่น้ำ สำหรับที่ดินสามเณราลัยนั้นปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนอัสสัมชัญ (ชาย) แปลงที่สองซึ่งซื้อเมื่อปี ค.ศ.1820 นั้นเป็นที่ตั้งของอาสนวิหารอัสสัมชัญปัจจุบัน,โรงเรียนของวัด (อัสสัมชัญศึกษา),โรงเรียนของภคินีคณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร (อัสสัมชัญคอนแวนต์), สำนักพระสังฆราช,ศูนย์คาทอลิก, บริษัทอีสต์เอเซีย ติ๊ก, บ้านคริสตัง ฯลฯ.
                 เงินที่ได้รับจากคุณพ่อปาสกัลเหลือไม่พอที่จะสร้างวัดได้ พระสังฆราชฟลอรังส์จำเป็นต้องพึ่งพระคาร์ดินัลผู้ใจบุญจากกรุงโรม ซึ่งยินดีบริจาคเงิน 1,500 ปีอาสตร์ เพื่อสร้างวัดเป็นเกียรติแด่พระนางมารีอารับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ การดำเนินงานต่างๆ ก็เริ่มทันทีในปี ค.ศ.1820 คือปรับที่ดินให้เรียบ และลงมือสร้างวัดอัสสัมชัญหลังแรกเป็นอิฐ เสร็จในปี ค.ศ.1821 นอกจากนั้นยังสร้างสำนักพระสังฆราช และพระสังฆราชฟลอรังส์ก็มาพำนักอยู่ที่นี่
                 พิธีเสกอาสนวิหารอัสสัมชัญกระทำอย่างสง่าในวันฉลองแม่พระลูกประคำปี ค.ศ.1822 พระสังฆราช ปัลเลอกัวได้เขียนถึงการก่อสร้างวัดอัสสัมชัญและสำนักพระสังฆราชไว้ในหนังสือเล่าเรื่องกรุงสยามของท่านดังนี้  "มีโบสถ์คริสตัง หรือค่ายคริสตังอยู่ 5 แห่งด้วยกันในนครหลวง แห่งแรกชื่อค่าย อัสสัมชัญ ซึ่งวิทยาลัย  เสมินาร์ตั้งอยู่ที่นั่น ใกล้กับตัวโบสถ์อันสง่างามก่ออิฐถือปูน สร้างมาได้เกือบ 40 ปีแล้ว ตัวโบสถ์นั้นมีสวนอันกว้างล้อมรอบอยู่โดยรอบ มีบ้านเรือนของพวกคริสตังกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ห่างจากแม่น้ำลึกไปประมาณ 100 เมตร  จะเห็น สำนักพระสังฆราชอันสูงเด่น (สร้างโดยพระสังฆราชปัลเลอกัว) ซึ่งสิ้นค่าก่อสร้างไปถึง 3000 ฟรังก์เศษ ชั้นล่างของอาคารหลังนี้จัดสรรให้เป็นที่ทำการของโรงพิมพ์แต่เพียงอย่างเดียว ชั้นบนซึ่งมีอยู่เพียงชั้นเดียวประกอบด้วยห้องนอน 2 ห้อง และห้องรับแขกอันกว้างใหญ่อีก 1 ห้อง ..."
      ตั้งแต่นั้นมาอัสสัมชัญได้เป็นที่พำนักของบรรดาพระสังฆราชประมุขมิสซังต่างๆ ในประเทศไทย สมัยนั้นทั่วบริเวณดังกล่าวเป็นชานเมืองกรุงเทพฯ และครอบครัวคริสตังซึ่งค่อยๆ โยกย้ายมาตั้งบ้านเรือนอยู่ข้างๆ วัดก็ขึ้นอยู่กับวัดแม่พระลูกประคำ อันเป็นที่รู้จักดีในนามวัดกาลหว่าร์ (ตั้งอยู่เหนือวัดอัสสัมชัญ) จนถึงปี   ค.ศ.1884 เมื่อเมืองได้ขยายไปจนถึงบริเวณดังกล่าว และจำนวนคริสตังได้เพิ่มขึ้นจึงจำเป็นต้องตั้งบริเวณนั้นให้เป็นกลุ่มคริสตชน (Paroisse) เป็นที่น่าเสียดายที่บัญชีศีลล้างบาปแรกๆ ของวัดอัสสัมชัญได้สูญหายไปหมดในปี ค.ศ.1864 ด้วยเหตุว่าบ้านพักพระสงฆ์ของวัดแม่พระลูกประคำ และบัญชีหลักฐานต่างๆ ถูกเพลิงเผาผลาญหมดสิ้น ดังนั้นปี ค.ศ.1864 พระสังฆราชดือปองด์จึงตั้งกลุ่มอัสสัมชัญเป็นกลุ่มคริสตชนอย่างเป็นทางการ คุณพ่อฟรังซัว ยอแซฟ ชมิตต์ (Schmitt) เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก ได้เปิดบัญชีวัดทุกเล่มตั้งแต่ปี ค.ศ.1864 เป็นต้นมา (หลักฐาน: A.M.E. Vol. 892 pp. 263, 264, 267; Ann. M.E. 1913 p. 91 Memoiral II.)



II. วัดอัสสัมชัญหลังปัจจุบัน
   1. การสร้างวัด จนถึงการเสก
 

                 เนื่องจากจำนวนคริสตังได้เพิ่มทวีขึ้นมาก ทำให้วัดเก่าดูคับแคบไป คุณพ่อกอลมเบต์ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสอยู่ในเวลานั้น ได้ปรึกษาหารือกับคุณพ่อโรมิเออ ซึ่งขณะนั้นเป็นเหรัญญิกของมิสซัง และยังเป็นผู้เชี่ยวชาญทางการก่อสร้างอีกด้วย จึงตกลงว่าจะดำเนินการก่อสร้างวัดใหม่ โดยคุณพ่อกอลมเบต์รับหน้าที่เป็นผู้หาเงินทุน ส่วนคุณพ่อโรมิเออเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง มีนายช่างชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่งเป็นผู้ออกแบบ
                 การก่อสร้างวัดใหม่ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ย่อมต้องมีความยากลำบาก และอุปสรรคมากมาย นอกจากนี้การคมนาคมต่างๆ ในสมัยนั้นก็ยังไม่สะดวก อุปกรณ์การก่อสร้างส่วนมากต้องซื้อหามาจากต่างจังหวัด เช่น หิน ทราย ต้องสั่งซื้อมาจากราชบุรี และเครื่องประดับอาสนวิหารต้องสั่งซื้อมาจากประเทศฝรั่งเศส, อิตาลี และสิงคโปร์ ฯลฯ แต่คุณพ่อผู้มีใจเร่าร้อน ก็ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบากต่างๆ หัวเรี่ยวหัวแรงในการหาเงินสร้างอาสนวิหารหลังนี้คือ นายปอล มีคาลีพ และหลวงสรกิจ อธิบดีกรมไปรษณีย์คนแรกของประเทศไทย ทั้งสองท่านต้องมาประชุมกันทุกวันอาทิตย์หลังมิสซาเพื่อวางโครงการหาเงินในสัปดาห์ต่อๆ ไป ในรายงานประจำปีของปี ค.ศ.1906 หน้า 128 พระสังฆราชแปร์รอสได้บันทึกไว้ว่า
                 "ในทำนองเดียวกันที่กรุงเทพฯ วัดอัสสัมชัญหลังเก่าก็ไม่สามารถบรรจุสัตบุรุษได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของที่มีอยู่ ตอนนี้กำลังวางรากฐานสร้างวัดหลังใหม่อยู่..."
                 ปี ค.ศ.1909 คุณพ่อเริ่มงานวางเข็มวัดใหม่ โดยเอาต้นซุงเรียงซ้อนกันแทนการตอกเข็ม (ในสมัยคุณพ่อแปรูดงเป็นเจ้าอาวาส (ค.ศ.1934-1960) ท่านได้ให้ก๋งบัวสำรวจต้นซุง ปรากฎว่ายังอยู่ในสภาพดี) หลังจากสร้างวัดจนเงินหมดกระเป๋าแล้ว คุณพ่อกอลมเบต์จึงจัดพิธีเสกศิลาฤกษ์ เพื่อเปิดโอกาสให้คนมาทำบุญวัดใหม่
             พิธีเสกศิลาฤกษ์นี้กระทำกันในวันที่ 31 มกราคม ค.ศ.1910 สองวันหลังจากการ อภิเษกพระสังฆราช แปร์รอสที่วัดกาลหว่าร์ โดยมีพระสังฆราชบูชือต์ ประมุขมิสซังเขมร ซึ่งมาร่วมพิธีอภิเษกพระสังฆราชแปร์รอส เป็นผู้เสกศิลาฤกษ์อย่างสง่า และมีพระสังฆราชบาริยอง ประมุขมิสซังมะละกา มาร่วมเป็นเกียรติในพิธีด้วย คุณพ่อกอลมเบต์ไม่ผิดหวังในการจัดงานครั้งนี้ เพราะในวันนั้นมีสัตบุรุษใจบุญบริจาคเงินเป็นจำนวนมากพอที่จะดำเนินการสร้างวัดต่อไปได้ นอกจากนั้นยังมีคนใจบุญจากยุโรปส่งเงินมาสมทบด้วย 
           เกี่ยวกับเรื่องนี้พระสังฆราชแปร์รอสได้เขียนบันทึกไว้ในรายงานประจำปีว่าดังนี้ "หลังจากพิธีอภิเษกพระสังฆราชแปร์รอส ในวันที่ 30 มกราคม ค.ศ.1910 ที่วัดกาลหว่าร์ ผ่านพ้นไปแล้ว ในวันที่ 31 มกราคม ค.ศ.1910 ได้มีพิธีเสกศิลาฤกษ์ก้อนแรกของอาสนวิหารในอนาคต พิธีเป็นไปอย่างสง่า มีการประดับประดาบริเวณพื้นที่ที่จะใช้สร้างวัดด้วยธงทิวหลากสีสวยงาม ก่อนเริ่มพิธีเสกศิลาฤกษ์ พระสังฆราชบูชือต์ประมุขมิสซังเขมร ได้เทศน์สอนผู้มาร่วมพิธีด้วยคำพูดเตือนใจและเร้าใจในความศรัทธา ขณะนี้การสร้างวิหารกำลังดำเนินงานอยู่ กำแพงทุกด้านสร้างขึ้นอย่างช้าๆ เมื่อไรหนอเราจะได้เห็นวิหารนี้สำเร็จ ขอให้พระญาณสอดส่องโปรดประทานปัจจัยที่จำเป็นในการสร้างวัดที่เหมาะสมนี้ถวายแด่พระองค์..."
            อาสนวิหารหลังนี้สร้างเสร็จเรียบร้อยในปี ค.ศ.1918 (หลักฐาน: C.R.; หมายเหตุ ประจำวันของคุณพ่อกอลมเบต์) วันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1919 ตรงกับวันฉลองสมโภชแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ คุณพ่อกอลมเบต์ถือโอกาสนี้มอบอาสนวิหารให้เป็นวิหารของแม่พระ ผู้ประกอบพิธีเสกคือพระสังฆราชแปร์รอส ท่ามกลางนักบวชชายหญิง ทูตานุทูตต่างประเทศ และชาวคาทอลิกจำนวนมากมาย  ผู้ที่รับศีลกล่าวเป็นคู่แรกในอาสนวิหารหลังนี้  คือ ลูกา มงคล วังตาล และอีวอน วอน วังตาล ท่านทั้งสองได้ให้ความช่วยเหลือในกิจการงานของวัดตลอดมา
                 ในปลายปี ค.ศ.1919 วัดอัสสัมชัญได้มีพิธีมิสซาอย่างสง่าอีกครั้ง หลังจากมิสซาเสกในเดือนสิงหาคมแล้ว รายงานประจำปี ค.ศ.1919 หน้า183 พระสังฆราชแปร์รอสบันทึกไว้ว่า  "...ปิดท้ายการเข้าเงียบประจำปีของเราในเดือนพฤศจิกายน ด้วยการจัดพิธีกรรมอย่างสง่าที่อาสนวิหารเพื่อระลึกถึงวิญาณผู้ล่วงลับไปในสงคราม มิชชันนารีเกือบทุกองค์เข้าร่วมพิธีนี้ ผู้รักษาการณ์สถานทูตฝรั่งเศส เนื่องจากอัครราชทูตไม่อยู่ ชาว ฝรั่งเศส ส่วนมากที่กรุงเทพฯ และชาวต่างชาติอื่นๆ หลายคนมาร่วมพิธีนี้ด้วย วันอาทิตย์หลังจากการเซ็นสัญญาสงบศึก มีมิสซาใหญ่อย่างสง่า เพื่อโมทนาคุณพระเป็นเจ้า ตามด้วยเพลง เต เดอุม ที่อาสนวิหาร และที่วัดอื่นๆ ทั้งหลายของมิสซังด้วย..."


  2. คุณพ่อกอลมเบต์ บิดาผู้มีคุณ
               เนื่องจากคุณพ่อกอลมเบต์เป็นผู้มีความสำคัญและมีพระคุณยิ่งต่ออาสนวิหารอัสสัมชัญ และโรงเรียนอัสสัมชัญ สมควรอย่างยิ่งที่จะกล่าวถึงคุณพ่อเป็นพิเศษไว้ ณ ที่นี้ "คุณพ่อกอลมเบต์ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสอาสนวิหารในปี ค.ศ.1875 แล้วท่านก็ดำรงตำแหน่งนี้ต่อไปจนถึงวันมรณภาพของท่าน เมื่อตอนที่มิชชันนารีหนุ่มผู้นี้เป็นเจ้าอาวาสวัดอัสสัมชัญนั้น วัดที่เราเรียกว่าอาสนวิหารนี้ยังเป็นเพียงแค่อาคารธรรมดา สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1809 ตามแบบวัดไทยในสยาม และมีคริสตังจำนวนน้อยประมาณเกือบ 300 คน
               ดังนั้นสถานการณ์จึงดูเหมือนว่ามืดมนมาก และงานแพร่ธรรมซึ่งค่อนข้างจำกัดของวัดเล็กๆ นี้จึงไม่พอเพียงที่จะให้ท่านมีกิจการจนล้นมือ นอกนั้นคุณพ่อยังเข้าใจทันทีว่าในการจะฟื้นฟูและพัฒนาวัดนี้อย่างจริงจัง ต้องดำเนินงานให้การศึกษาอบรมเด็กๆ ด้วยจิตตารมณ์คริสตัง คุณพ่อคาดหวังว่าโรงเรียนจะช่วยทำให้งานนี้ประสพผลสำเร็จ ที่วัดนี้ยังไม่มีโรงเรียนประจำวัด คุณพ่อกอลมเบต์จัดสร้างโรงเรียนแห่งหนึ่งขึ้น ท่านคงจะคิดไว้แล้วว่าจะให้พวกเด็กกำพร้าทุกคน พวกลูกๆ ของชาวยุโรป ซึ่งอยู่ในอันตรายอย่างใหญ่หลวงทั้งทางด้านวิญญาณและร่างกาย ภายในตัวเมืองนี้ ได้รับประโยชน์จากโรงเรียนดังกล่าวนี้ด้วย ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม อาคารเดิมต่างๆ ของบ้านเณร ซึ่งพวกนักเรียนเพิ่งถูกส่งไปอยู่ที่บางช้าง ไม่มีใครใช้ คุณพ่อกอลมเบต์จึงขอพระคุณเจ้าเวย์ และใช้เป็นโรงเรียนประจำวัดของท่านในปี ค.ศ.1877
                  ตอนช่วงแรกๆ ได้รับการบรรเทาใจไม่เท่าไหร่ และถ้าเป็นคนอื่นที่มิใช่คุณพ่อกอลมเบต์แล้ว ก็คงจะล้มเลิกกิจการดำเนินงานซึ่งบางคนเห็นว่ายังไม่ควรแก่เวลา แทนที่จะถอยหลัง ในปี ค.ศ.1879 คุณพ่อเพิ่มแผนกภาษาอังกฤษเข้ามาควบคู่กับแผนกภาษาฝรั่งเศส ในระยะนี้คุณพ่อได้จัดแผนกการศึกษาที่สมบูรณ์แบบขึ้น และประกาศในปี ค.ศ.1885 เปลี่ยนโรงเรียนประจำวัดนี้เป็น "วิทยาลัย" เปิดรับเด็กๆ ทุกคนในกรุงเทพฯ วันเปิดเรียนมีนักเรียนมา 33 คน จำนวนน้อยจริงนะ ทั้งคุณพ่อกังต็องซึ่งเป็นมือขวาของคุณพ่อกอลมเบต์จนถึงวันตาย และนายโดโนแวน เป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ ซึ่งคุณพ่อจ้างมาพิเศษจากกรุงลอนดอน รู้สึกงงงวยนิดหน่อยที่มีนักเรียนน้อยเช่นนี้ ส่วนคุณพ่อกอลมเบต์เองไม่ตกใจอะไร ท่านรอเวลาที่พระญาณสอดส่องจะอำนวย และท่านก็ทำถูก เพราะเมื่อสิ้นปีแรกมีนักเรียน 80 คน และปีต่อมาท่านรับนักเรียนได้ 130 คน แบ่งเป็นแผนกภาษาอังกฤษ 6 ชั้น และภาษาฝรั่งเศส 3 ชั้น
                 การที่มีนักเรียนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นนี้ เป็นเหตุให้คุณพ่อกอลมเบต์ต้องเป็นห่วงหนักใจ เพราะจำเป็นต้องคิดถึงการก่อสร้าง พระคุณเจ้าเวย์ให้การสนับสนุนเต็มที่ แต่ว่ามิสซังไม่มีเงินจะช่วย เอาละ มิชชันนารีผู้กล้าแข็งของเราจะต้องออกขอรับบริจาค วันที่ 6 มกราคม ค.ศ.1887 คุณพ่อเสนอแผนผังของวิทยาลัยในอนาคตของท่านต่อสมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ พระองค์ท่านเห็นชอบด้วยทั้งหมด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจุฬาลงกรณ์ทรงบริจาค 4,000 ฟรังก์ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงบริจาค 2,000 ฟรังก์ บรรดาเจ้านายและข้าราชการชั้นสูงก็ร่วมบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลครั้งนี้ด้วย หนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ ก็ช่วยโฆษณาเชิญชวนสละทรัพย์ในหมู่ชาวยุโรป โดยเขียนเรื่องน่าสรรเสริญมากที่สุดเกี่ยวกับงานของคุณพ่อกอลมเบต์ ท่านคงจะสามารถสร้างวิทยาลัยของท่านได้ สยามมกุฎราชกุมาร เจ้าฟ้าวชิรุณหิศ ทรงเป็นผู้วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1887 และตอนต้นปี ค.ศ.1889 วิทยาลัยแห่งใหม่ก็เปิดทำการสอน จริงอยู่ในปี ค.ศ.1891 ยังมีนักเรียนเพียงแค่ 400 คน แต่บรรดาเจ้านาย ข้าราชการ และชนชั้นนำของสังคมในนครหลวงก็ส่งลูกๆ มาเรียน
                 คุณพ่อกอลมเบต์ผู้ซึ่งมีความเสียสละอย่างไม่มีขีดจำกัด ตัดสินใจที่จะเชิญคณะนักบวชคณะหนึ่งมาช่วยงาน ท่านไปฝรั่งเศส เจรจากับภราดาคณะเซนต์คาเบรียล ซึ่งยอมรับข้อเสนอของท่าน และส่งอาจารย์มาช่วยงาน ปี ค.ศ.1900 วิทยาลัยมีนักเรียน 1000 คน ปี ค.ศ.1920 มีนักเรียน 1800 คน และปัจจุบัน (ปี ค.ศ.1933 ) มีมากกว่า 2000 คน ในทุกกรมกองข้าราชการ และในทุกวงการธุรกิจ เราจะพบคนทั้งหลายในสยามที่เคยมาเรียนในโรงเรียนอัสสัมชัญ และภูมิใจที่ได้มาเรียนที่นั่น  หลังจากที่พวกภราดามาถึงแล้ว คุณพ่อกอลมเบต์ก็ยังดูแลสมาคมศิษย์เก่าซึ่งท่านเพิ่งตั้งขึ้นมา และดูแลกิจกรรมต่างๆ ของอาสนวิหารซึ่งท่านได้รับมอบหมายอยู่ เสมออย่างขยันขันแข็งขึ้นอีก วัดหลังเดิมใหญ่ไม่พอจุคนที่มาร่วมพิธีเสียแล้ว เพราะจำนวนคริสตังชาวพื้นเมืองเพิ่มขึ้น และชาวยุโรปคาทอลิกก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
                 คราวนี้เจ้าอาวาสลงมือถือถุงทานออกไปขอรับบริจาค อาศัยความใจกว้างของคนทั่วไป คุณพ่อจึงสามารถลงมือสร้างอาสนวิหารใหม่ได้ต่อไปในปี ค.ศ.1906 และพระคุณเจ้าบูซือต์ ผู้มาร่วมพิธีอภิเษกพระสังฆราชแปร์รอส เป็นผู้เสกศิลาฤกษ์อย่างสง่าในปี 1910 แปดปีให้หลัง อาสนวิหารก็สร้างเสร็จ และเปิดให้ทำการประกอบพิธีศาสนาในปี ค.ศ.1918..." (หลักฐานเล่ม 5 หน้า 53-57)
                 ในวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ.1933 มิสซังฯ และสัตบุรุษวัดอัสสัมชัญต้องสูญเสียบุคคลผู้ความสำคัญและมีพระคุณไป ในรายงานประจำปี ค.ศ.1933 หน้า 261 พระสังฆราชแปร์รอสได้เขียนถึงการสูญเสียคุณพ่อกอลมเบต์ มิชชันนารีอาวุโส ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาไว้ว่าดังนี้  "...วันที่ 23 สิงหาคม เราสูญเสียมิชชันนารีอาวุโสคือ คุณพ่อกอลมเบต์ ที่นับถือของเราซึ่งมรณภาพเมื่ออายุ 85 ปี หลังจากทำงานมิสซังได้ 62 ปี งานของคุณพ่อผู้ก่อตั้งโรงเรียนอัสสัมชัญนี้ นับเป็นงานอันยิ่งใหญ่น่าสรรเสริญ ท่านได้รับมอบหมายให้ปกครองวัดอัสสัมชัญตั้งแต่ปี ค.ศ.1875 ก็ท่านนี้แหละคือผู้บันดาลให้วัดอัสสัมชัญเป็นดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ความเจริญรุ่งเรืองในงานทั่วๆ ไปอย่าง มากของมิสซังนั้นเป็นผลอันเกิดจากความคิดริเริ่มอันเพียรพยายามโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของคุณพ่อ ท่านเป็นรองประมุขมิสซังตั้งแต่ปี ค.ศ.1907 และรั้งตำแหน่งประมุขมิสซังชั่วคราวหลังการมรณภาพของพระสังฆราชเวย์ ท่านสามารถทำให้การติดต่อกับรัฐบาลซึ่งดำเนินการมาหลายปีแล้ว เพื่อมุ่งจะให้มีพระราชบัญญัติอนุมัติให้มิสซังคาทอลิกมีสิทธิ์ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นผลสำเร็จ คุณพ่อองค์นี้เป็นที่รู้จักทั่วประเทศ ได้มีส่วนสำคัญในการสร้างบรรยากาศซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้บุคคลสำคัญผู้หนึ่ง ขนานนามอย่างเปิดเผยว่า "บรรยากาศคริสตังในกรุงสยาม" มรณภาพของท่านเป็นโอกาสให้หลายคนมาแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อมิสซัง และแสดงความรู้คุณ ความรัก ต่อผู้ซึ่งทุกคนถือว่าเป็นนักอบรมผู้ยิ่งใหญ่ ชาวสยามจะคิดถึงท่านตลอดไป..."



สถาปัตยกรรม
     I. อาสนวิหารอัสสัมชัญ

โบสถ์อัสสัมชัญ ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกในราวปี ค.ศ.1809 (พ.ศ.2352 แบบไทย) โดยบาทหลวงปัสกัล เพื่อเป็นการถวายเกียรติแด่แม่พระยกขึ้นสวรรค์ แล้วเสร็จในปี ค.ศ. 1821 (พ.ศ. 2364) และได้รับการสถาปนาเป็นอาสนวิหารอัสสัมชัญในปีถัดมา
ในปี ค.ศ. 1909 (พ.ศ. 2452) ได้รับการสร้างโบสถ์หลังใหม่( หลังปัจจุบัน) เพื่อรองรับการขยายตัวของคริสตชน ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยสถาปนิกชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ออกแบบ และควบคุมการก่อสร้าง วัสดุส่วนใหญ่ เช่น หินอ่อน และกระจกสี สั่งเข้ามาจากฝรั่งเศส และอิตาลี มีรากฐานเป็นท่อนซุงจำนวนมาก มัดเรียงกันเป็นแพ แทนการใช้เสาเข็ม ในระยะสงครามโลกครั้งที่ 2 ตัวโบสถ์ได้รับความเสียหายจากแรงระเบิด จึงได้มีการซ่อมแซม และมีการใช้เหล็กโยงกลางอาคารเพื่อเสริมแรงดึงผนัง ทั้ง 2 ด้านเข้าหากัน
ตัวอาคาร ถูกวางตามแนวแกน ทิศตะวันออก และตะวันตก ภายในแบ่งเป็น 4 ส่วน คือ ส่วน ประกอบพิธีกรรม ซึ่งมีพระแท่นหินอ่อนขนาดใหญ่ เป็นที่พระสงฆ์ใช้ประกอบพิธีทางศาสนา(1) ส่วนที่ นั่งของผู้มาร่วมพิธี(2) ซึ่งทั้ง 2 ด้านเป็นช่องคูหาขนาดใหญ่ เป็นที่ประดิษฐานรูปพระและนักบุญต่างๆ(3) ส่วนโถงทางเข้า(4) โดยมีระเบียงโอบล้อมรอบ ซึ่งเหนือโถงทางเข้าเคยใช้เป็นที่สำหรับนักขับร้อง และออร์แกนขนาดใหญ่ ทั้งผนัง และเพดานประดับประดาด้วย จิตกรรมแบบเฟรสโก และประติมากรรม ปูปั้นนูนสูงต่ำ แสดงเรื่องราวและความชื่อทางศาสนา
รูปแบบทางสถาปัตยกรรมของ อาสนวิหารอัสสัมชัญ ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมสมัย RENAISSANCE ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมในยุคต้นศตวรรษ ที่ 15 ในประเทศอิตาลี และได้แพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวางในทวีปยุโรปโดยนำเอารูปลักษณ์ และองค์ประกอบในยุค CLASSIC(โรมัน) กลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง แต่ใช่กรรมวิธีและเทคนิคการก่อสร้างจากยุค GOTHIC ก่อนหน้านั้น
           ลักษณะที่เห็นเด่นชัดคือ การคำนึงถึงสมดุล (SYMMETRY) เป็นหลักใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นผนังอาคาร หอคอย ซึ่งขนาบทั้ง 2 ด้าน ของทางเข้าซุ้มประตู และหน้าต่างยอดครึ่งวงกลม(SEMICIRCULAR ARCHES) ซึ่งรายรอบอาสนวิหารแห่งนี้ ก็ยังแสดงออกถึงความสมดุลดังกล่าว นอกจากนั้น บริเวณมุมอาคารยังมีการเน้นให้เห็นความมั่งคง โดยการแต่มุมอาคารเลียนแบบหินทรายก้อนโตเรียงสลับแบบ QUOINS ซึ่งเป็นการสลับด้านยาว(STRETCHERS) และยอด (HESDERS) มีจุดเด่นอยู่ที่หน้าจั่ว(PEDIMENT) แบบ LOW PITCH  คือ มีความลาดชันน้อย อันเป็นอิทธิพลมาจากสมัย CLASSIC ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับการใช้เสาโรมันแบบ COMPOSITE รับโค้งประทุน(ARCH) ภายในอาสนวิหารแล้ว ยิ่งแสดงให้เห็นถึงสถาปัตยกรรมในยุค RENAISSANCE อย่างชัดเจน
ในยุคเดียวกัน ศิลปกรรมแขนงอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นจิตกรรม ประติมากรรม งานโลหะ และงานสีต่างๆ ก็ได้รับการพัฒนาอย่างกว้างขวาง และถูกนำมาประยุกต์ใช้ตกแต่ง ประดับประดางานสถาปัตยกรรมให้มีความสวยงามยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถเห็นได้ชัดเช่นกันภายในอาสนวิหารแห่งนี้



เหตุการณ์สำคัญ ของวัดอัสสัมชัญ 

                 ตั้งแต่ปี ค.ศ.1942 ได้เกิดสงคราม เครื่องบินมาทิ้งระเบิดในบริเวณวัดอัสสัมชัญ ทั้งระเบิดทำลายและระเบิดเพลิง อาคารต่างๆ รอบวัดได้รับความเสียหายมาก หมู่บ้านคริสตังก็ถูกเผาผลาญหมด อาสนวิหารด้านซ้ายได้ถูกระเบิดทำให้ได้รับความเสียหายมาก กำแพงด้านในแตกหลายแห่ง รวมทั้งประตูหน้าต่าง, กระจก, เก้าอี้ ฯลฯ รูป 14 ภาคหลายรูปได้รับความเสียหาย นายช่างชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่งได้มาสำรวจ และเสนอให้ใส่เหล็กโยงกลางวัด คุณพ่อแปรูดงต้องซ่อมแซมหมดทุกอย่าง สิ้นเงินค่าใช้จ่ายทั้งหมด 77,200 บาทในสมัยนั้น ตามรายงานประจำปี ค.ศ. 1941-1947 หน้า 301 ได้กล่าวไว้ว่า "...กรุงเทพฯ ถูกลูกระเบิดอยู่บ่อยๆ อาสนวิหารอัสสัมชัญถูกระเบิดเข้าลูกหนึ่ง ทำให้ผนังโบสถ์เป็นรูโต อาคารทั้งหลังสั่นสะเทือนเกิดความเสียหายมาก โรงเรียน วัด และบ้านเรือนของพวกคริสตังกลุ่มหลัก กลายเป็นเถ้าถ่านไปหมด โรงเรียนอัสสัมชัญรอดพ้นจากไฟไหม้ไปได้อย่างอัศจรรย์..."
                 ถึงแม้คุณพ่อแปรูดงจะได้จัดการซ่อมแซมวัดที่เสียหายเพราะระเบิดของสงครามแล้วก็ตาม แต่ร่องรอยของระเบิดยังปรากฎอยู่มาก ในการซ่อมแซมครั้งนั้น นายบัว ประคองจิต (บิดาของพระสังฆราชมีแชล มงคล ประคองจิต) ได้เป็นผู้สำรวจท่อนซุงซึ่งเป็นรากฐานของวัด และพบว่ายังคงอยู่ในสภาพดี นายบัว ประคองจิต ได้ศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมจากนายช่างชาวอิตาเลียน และได้ใช้วิชาความรู้สร้างวัดวาอารามหลายแห่ง นับเป็นผู้มีพระคุณต่อวัดอัสสัมชัญด้วย นายบัวได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ.1968 รวมอายุได้ 88 ปี มิสซาปลงศพได้กระทำที่อาสนวิหารอัสสัมชัญเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ.1968 

บทวิเคราะห์คุณค่า

       I.ด้านสังคมศาสตร์
        เราจะเห็นได้ว่า โบสถ์อัสสัมชัญแห่งนี้ มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน และละเอียดอ่อนต่อศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิค ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการเผยแพร่ศาสนาของคุณพ่อท่านต่างๆ และความเสียสละอย่างใหญ่หลวง ซึ่งมีผลกระทบทำให้สังคมของคาทอลิค มีพื้นที่ในการประกอบพิธีและถือเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งรากฐานของชุมชนคริสต์บริเวณย่ายถนนเจริญกรุงอย่างแท้จริง ในอีกแง่การที่มีโบสถ์อัสสัมชัญนั้น เป็นการเปิดพื้นที่ให้ชาวคาทอลิคสามารถแสดงตัวอย่างเปิดเผย และส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนยังโรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนอัสสัมชัญศึกษาและโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนด์ได้อย่างวางใจ เพราะมีสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอันยิ่งใหญ่อยู่ในบริเวณโรงเรียน ในปัจจุบันโบสถ์อัสสัมชัญ ยังเป็นสถานที่รับจัดงานทางศาสนาและพิธีกรรมแต่งงานที่ชาวคริสต์มักนิยมมาจัดที่นี่ เนื่องจากความอลังการของสถาปัตยกรรม และทำเลที่ตั้งอยู่ในเขต "บางรัก" ซึ่งมีความเป็นมงคลอย่างยิ่ง

      II.ด้านสถาปัตยกรรม
       ดังจะเห็นได้ว่าโบสถ์อัสสัมชัญ มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมแบบ Renaissance ซึ่งมีส่วนประกอบของจั่วแบบ Low Pitch มีความลาดชันต่ำ เสาแบบโรมันมีการประดับประดาหัวเสาตามแบบ Composite และยังมีซุ้มทางเข้าด้านหน้าที่มีลักษณะของ Arch โค้งอีกด้วย ประกอบกันนี้ยังมี Stain Glass ประดับรายรอบอาคารซึ่งแสดงเหตุการณ์สำคัญต่างๆตามพระคัมภีร์ ด้านในเป็นเพดานสูงซึ่งมีกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมแบบ Gothic ผสมอยู่ ซึ่งแสดงออกถึงความสูงส่งของพระผู้เป็นเจ้าและความอลังการของสถาปัตยกรรมซึ่งสามารถสร้างโครงสร้างพาดช่วงกว้างด้วยอิญก่อ ตั้งแต่ ศตวรรษที่ 19 ซึ่งหากจะกล่าวบนความจริงแล้ว โบสถ์อัสสัมชัญแห่งนี้เป็นอาคารที่เป็นมรดกของประเทศไทยด้วยตัวสถาปัตยกรรมเองและฝีมือการก่อสร้างที่ประณีต ซ้ำยังเป็นอาคารอนุรักษ์ห้ามทุบทำลาย เพราะเป็นอาคารเก่าที่ผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 มาแล้ว ถึงแม้จะโดนระเบิดบริเวณด้านซ้ายของอาคาร แต่ก็บูรณะให้กลับมามีสภาพสวยงามสง่าดังในปัจจุบันได้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น