วันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556


Assumption Cathedral
เขตบางรัก เจริญกรุง 40


ประวัติอาสนวิหารอัสสัมชัญ
I. ความเป็นมาของวัดอัสสัมชัญหลังแรก

                 ในปี ค.ศ.1809 คุณพ่อปาสกัล ซึ่งเป็นลูกหลานของชาวไทย-โปรตุเกส (บวชปี ค.ศ.1805) ได้รวบรวมเงิน 1,500 บาท ซึ่งได้บอกบุญกับบรรดาคริสตังและญาติพี่น้องมิตรสหายของท่าน คุณพ่อได้ถวายเงินจำนวนนี้แก่ คุณพ่อฟลอรังส์เพื่อจะได้สร้างวัดสักแห่งหนึ่งเป็นเกียรติแด่อัสสัมชัญของพระนางมหามารีอา วันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1810 คุณพ่อฟลอรังส์เขียนจดหมายถึงคุณพ่อเลอต็องดัลว่า เพื่อความมุ่งหมายดังกล่าว
                 "ข้าพเจ้าได้ซื้อที่ดินแปลงหนึ่งราคา 250 บาท คงจะต้องขยายสักหน่อยในภายหลัง เพื่อจะได้สร้างวัดให้สมกับความตั้งใจของผู้บริจาค เพื่อพระสิริมงคลของพระเป็นเจ้าและของพระนางมหามารีอา ที่ดินแปลงนี้อยู่ริมแม่น้ำฝั่งตรงข้ามวัดซางตาครู้สของเรา อยู่เหนือวัดของพวกกิสมาติ๊กเล็กน้อย" (ปัจจุบันคือวัดกาลหว่าร์)
                 วันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ.1810 คุณพ่อฟลอรังส์เขียนว่า"เวลานี้กำลังตระเตรียมที่ดินแปลงนี้เพื่อที่จะได้สร้างวัดแม่พระตามความปรารถนาของผู้ใจบุญที่ได้ถวายเงิน 1,500 บาทแล้วนั้น และซึ่งข้าพเจ้าได้รับเมื่อปีที่แล้วจากคุณพ่อปาสกัล" ปี ค.ศ.1810 พระสังฆราชการ์โนลต์ ได้แต่งตั้งคุณพ่อฟลอรังส์เป็นพระสังฆราชผู้สืบตำแหน่งแล้วพระสังฆราชการ์โนลต์ได้เดินทางไปวัดจันทบุรี ในโอกาสที่มีภคินีเชื้อสายญวนหลายรูปปฏิญาณตน และท่านได้สิ้นใจท่ามกลางกลุ่มคริสตชนนั้นในวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ.1811 เมื่อได้ทราบว่าพระสังฆราชการ์โนลต์ป่วยหนัก พระสังฆราชฟลอรังส์จึงได้เดินทางไปจันทบุรี
                 ที่สุดในปี ค.ศ.1820 พระสังฆราชฟลอรังส์ก็สามารถซื้อที่ดินทั้งหมด (สวนกล้วย) ตั้งแต่ที่ดินที่ตั้งสาม เณราลัยของมิสซังจนถึงริมแม่น้ำ สำหรับที่ดินสามเณราลัยนั้นปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนอัสสัมชัญ (ชาย) แปลงที่สองซึ่งซื้อเมื่อปี ค.ศ.1820 นั้นเป็นที่ตั้งของอาสนวิหารอัสสัมชัญปัจจุบัน,โรงเรียนของวัด (อัสสัมชัญศึกษา),โรงเรียนของภคินีคณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร (อัสสัมชัญคอนแวนต์), สำนักพระสังฆราช,ศูนย์คาทอลิก, บริษัทอีสต์เอเซีย ติ๊ก, บ้านคริสตัง ฯลฯ.
                 เงินที่ได้รับจากคุณพ่อปาสกัลเหลือไม่พอที่จะสร้างวัดได้ พระสังฆราชฟลอรังส์จำเป็นต้องพึ่งพระคาร์ดินัลผู้ใจบุญจากกรุงโรม ซึ่งยินดีบริจาคเงิน 1,500 ปีอาสตร์ เพื่อสร้างวัดเป็นเกียรติแด่พระนางมารีอารับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ การดำเนินงานต่างๆ ก็เริ่มทันทีในปี ค.ศ.1820 คือปรับที่ดินให้เรียบ และลงมือสร้างวัดอัสสัมชัญหลังแรกเป็นอิฐ เสร็จในปี ค.ศ.1821 นอกจากนั้นยังสร้างสำนักพระสังฆราช และพระสังฆราชฟลอรังส์ก็มาพำนักอยู่ที่นี่
                 พิธีเสกอาสนวิหารอัสสัมชัญกระทำอย่างสง่าในวันฉลองแม่พระลูกประคำปี ค.ศ.1822 พระสังฆราช ปัลเลอกัวได้เขียนถึงการก่อสร้างวัดอัสสัมชัญและสำนักพระสังฆราชไว้ในหนังสือเล่าเรื่องกรุงสยามของท่านดังนี้  "มีโบสถ์คริสตัง หรือค่ายคริสตังอยู่ 5 แห่งด้วยกันในนครหลวง แห่งแรกชื่อค่าย อัสสัมชัญ ซึ่งวิทยาลัย  เสมินาร์ตั้งอยู่ที่นั่น ใกล้กับตัวโบสถ์อันสง่างามก่ออิฐถือปูน สร้างมาได้เกือบ 40 ปีแล้ว ตัวโบสถ์นั้นมีสวนอันกว้างล้อมรอบอยู่โดยรอบ มีบ้านเรือนของพวกคริสตังกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ห่างจากแม่น้ำลึกไปประมาณ 100 เมตร  จะเห็น สำนักพระสังฆราชอันสูงเด่น (สร้างโดยพระสังฆราชปัลเลอกัว) ซึ่งสิ้นค่าก่อสร้างไปถึง 3000 ฟรังก์เศษ ชั้นล่างของอาคารหลังนี้จัดสรรให้เป็นที่ทำการของโรงพิมพ์แต่เพียงอย่างเดียว ชั้นบนซึ่งมีอยู่เพียงชั้นเดียวประกอบด้วยห้องนอน 2 ห้อง และห้องรับแขกอันกว้างใหญ่อีก 1 ห้อง ..."
      ตั้งแต่นั้นมาอัสสัมชัญได้เป็นที่พำนักของบรรดาพระสังฆราชประมุขมิสซังต่างๆ ในประเทศไทย สมัยนั้นทั่วบริเวณดังกล่าวเป็นชานเมืองกรุงเทพฯ และครอบครัวคริสตังซึ่งค่อยๆ โยกย้ายมาตั้งบ้านเรือนอยู่ข้างๆ วัดก็ขึ้นอยู่กับวัดแม่พระลูกประคำ อันเป็นที่รู้จักดีในนามวัดกาลหว่าร์ (ตั้งอยู่เหนือวัดอัสสัมชัญ) จนถึงปี   ค.ศ.1884 เมื่อเมืองได้ขยายไปจนถึงบริเวณดังกล่าว และจำนวนคริสตังได้เพิ่มขึ้นจึงจำเป็นต้องตั้งบริเวณนั้นให้เป็นกลุ่มคริสตชน (Paroisse) เป็นที่น่าเสียดายที่บัญชีศีลล้างบาปแรกๆ ของวัดอัสสัมชัญได้สูญหายไปหมดในปี ค.ศ.1864 ด้วยเหตุว่าบ้านพักพระสงฆ์ของวัดแม่พระลูกประคำ และบัญชีหลักฐานต่างๆ ถูกเพลิงเผาผลาญหมดสิ้น ดังนั้นปี ค.ศ.1864 พระสังฆราชดือปองด์จึงตั้งกลุ่มอัสสัมชัญเป็นกลุ่มคริสตชนอย่างเป็นทางการ คุณพ่อฟรังซัว ยอแซฟ ชมิตต์ (Schmitt) เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก ได้เปิดบัญชีวัดทุกเล่มตั้งแต่ปี ค.ศ.1864 เป็นต้นมา (หลักฐาน: A.M.E. Vol. 892 pp. 263, 264, 267; Ann. M.E. 1913 p. 91 Memoiral II.)



II. วัดอัสสัมชัญหลังปัจจุบัน
   1. การสร้างวัด จนถึงการเสก
 

                 เนื่องจากจำนวนคริสตังได้เพิ่มทวีขึ้นมาก ทำให้วัดเก่าดูคับแคบไป คุณพ่อกอลมเบต์ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสอยู่ในเวลานั้น ได้ปรึกษาหารือกับคุณพ่อโรมิเออ ซึ่งขณะนั้นเป็นเหรัญญิกของมิสซัง และยังเป็นผู้เชี่ยวชาญทางการก่อสร้างอีกด้วย จึงตกลงว่าจะดำเนินการก่อสร้างวัดใหม่ โดยคุณพ่อกอลมเบต์รับหน้าที่เป็นผู้หาเงินทุน ส่วนคุณพ่อโรมิเออเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง มีนายช่างชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่งเป็นผู้ออกแบบ
                 การก่อสร้างวัดใหม่ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ย่อมต้องมีความยากลำบาก และอุปสรรคมากมาย นอกจากนี้การคมนาคมต่างๆ ในสมัยนั้นก็ยังไม่สะดวก อุปกรณ์การก่อสร้างส่วนมากต้องซื้อหามาจากต่างจังหวัด เช่น หิน ทราย ต้องสั่งซื้อมาจากราชบุรี และเครื่องประดับอาสนวิหารต้องสั่งซื้อมาจากประเทศฝรั่งเศส, อิตาลี และสิงคโปร์ ฯลฯ แต่คุณพ่อผู้มีใจเร่าร้อน ก็ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบากต่างๆ หัวเรี่ยวหัวแรงในการหาเงินสร้างอาสนวิหารหลังนี้คือ นายปอล มีคาลีพ และหลวงสรกิจ อธิบดีกรมไปรษณีย์คนแรกของประเทศไทย ทั้งสองท่านต้องมาประชุมกันทุกวันอาทิตย์หลังมิสซาเพื่อวางโครงการหาเงินในสัปดาห์ต่อๆ ไป ในรายงานประจำปีของปี ค.ศ.1906 หน้า 128 พระสังฆราชแปร์รอสได้บันทึกไว้ว่า
                 "ในทำนองเดียวกันที่กรุงเทพฯ วัดอัสสัมชัญหลังเก่าก็ไม่สามารถบรรจุสัตบุรุษได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของที่มีอยู่ ตอนนี้กำลังวางรากฐานสร้างวัดหลังใหม่อยู่..."
                 ปี ค.ศ.1909 คุณพ่อเริ่มงานวางเข็มวัดใหม่ โดยเอาต้นซุงเรียงซ้อนกันแทนการตอกเข็ม (ในสมัยคุณพ่อแปรูดงเป็นเจ้าอาวาส (ค.ศ.1934-1960) ท่านได้ให้ก๋งบัวสำรวจต้นซุง ปรากฎว่ายังอยู่ในสภาพดี) หลังจากสร้างวัดจนเงินหมดกระเป๋าแล้ว คุณพ่อกอลมเบต์จึงจัดพิธีเสกศิลาฤกษ์ เพื่อเปิดโอกาสให้คนมาทำบุญวัดใหม่
             พิธีเสกศิลาฤกษ์นี้กระทำกันในวันที่ 31 มกราคม ค.ศ.1910 สองวันหลังจากการ อภิเษกพระสังฆราช แปร์รอสที่วัดกาลหว่าร์ โดยมีพระสังฆราชบูชือต์ ประมุขมิสซังเขมร ซึ่งมาร่วมพิธีอภิเษกพระสังฆราชแปร์รอส เป็นผู้เสกศิลาฤกษ์อย่างสง่า และมีพระสังฆราชบาริยอง ประมุขมิสซังมะละกา มาร่วมเป็นเกียรติในพิธีด้วย คุณพ่อกอลมเบต์ไม่ผิดหวังในการจัดงานครั้งนี้ เพราะในวันนั้นมีสัตบุรุษใจบุญบริจาคเงินเป็นจำนวนมากพอที่จะดำเนินการสร้างวัดต่อไปได้ นอกจากนั้นยังมีคนใจบุญจากยุโรปส่งเงินมาสมทบด้วย 
           เกี่ยวกับเรื่องนี้พระสังฆราชแปร์รอสได้เขียนบันทึกไว้ในรายงานประจำปีว่าดังนี้ "หลังจากพิธีอภิเษกพระสังฆราชแปร์รอส ในวันที่ 30 มกราคม ค.ศ.1910 ที่วัดกาลหว่าร์ ผ่านพ้นไปแล้ว ในวันที่ 31 มกราคม ค.ศ.1910 ได้มีพิธีเสกศิลาฤกษ์ก้อนแรกของอาสนวิหารในอนาคต พิธีเป็นไปอย่างสง่า มีการประดับประดาบริเวณพื้นที่ที่จะใช้สร้างวัดด้วยธงทิวหลากสีสวยงาม ก่อนเริ่มพิธีเสกศิลาฤกษ์ พระสังฆราชบูชือต์ประมุขมิสซังเขมร ได้เทศน์สอนผู้มาร่วมพิธีด้วยคำพูดเตือนใจและเร้าใจในความศรัทธา ขณะนี้การสร้างวิหารกำลังดำเนินงานอยู่ กำแพงทุกด้านสร้างขึ้นอย่างช้าๆ เมื่อไรหนอเราจะได้เห็นวิหารนี้สำเร็จ ขอให้พระญาณสอดส่องโปรดประทานปัจจัยที่จำเป็นในการสร้างวัดที่เหมาะสมนี้ถวายแด่พระองค์..."
            อาสนวิหารหลังนี้สร้างเสร็จเรียบร้อยในปี ค.ศ.1918 (หลักฐาน: C.R.; หมายเหตุ ประจำวันของคุณพ่อกอลมเบต์) วันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1919 ตรงกับวันฉลองสมโภชแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ คุณพ่อกอลมเบต์ถือโอกาสนี้มอบอาสนวิหารให้เป็นวิหารของแม่พระ ผู้ประกอบพิธีเสกคือพระสังฆราชแปร์รอส ท่ามกลางนักบวชชายหญิง ทูตานุทูตต่างประเทศ และชาวคาทอลิกจำนวนมากมาย  ผู้ที่รับศีลกล่าวเป็นคู่แรกในอาสนวิหารหลังนี้  คือ ลูกา มงคล วังตาล และอีวอน วอน วังตาล ท่านทั้งสองได้ให้ความช่วยเหลือในกิจการงานของวัดตลอดมา
                 ในปลายปี ค.ศ.1919 วัดอัสสัมชัญได้มีพิธีมิสซาอย่างสง่าอีกครั้ง หลังจากมิสซาเสกในเดือนสิงหาคมแล้ว รายงานประจำปี ค.ศ.1919 หน้า183 พระสังฆราชแปร์รอสบันทึกไว้ว่า  "...ปิดท้ายการเข้าเงียบประจำปีของเราในเดือนพฤศจิกายน ด้วยการจัดพิธีกรรมอย่างสง่าที่อาสนวิหารเพื่อระลึกถึงวิญาณผู้ล่วงลับไปในสงคราม มิชชันนารีเกือบทุกองค์เข้าร่วมพิธีนี้ ผู้รักษาการณ์สถานทูตฝรั่งเศส เนื่องจากอัครราชทูตไม่อยู่ ชาว ฝรั่งเศส ส่วนมากที่กรุงเทพฯ และชาวต่างชาติอื่นๆ หลายคนมาร่วมพิธีนี้ด้วย วันอาทิตย์หลังจากการเซ็นสัญญาสงบศึก มีมิสซาใหญ่อย่างสง่า เพื่อโมทนาคุณพระเป็นเจ้า ตามด้วยเพลง เต เดอุม ที่อาสนวิหาร และที่วัดอื่นๆ ทั้งหลายของมิสซังด้วย..."


  2. คุณพ่อกอลมเบต์ บิดาผู้มีคุณ
               เนื่องจากคุณพ่อกอลมเบต์เป็นผู้มีความสำคัญและมีพระคุณยิ่งต่ออาสนวิหารอัสสัมชัญ และโรงเรียนอัสสัมชัญ สมควรอย่างยิ่งที่จะกล่าวถึงคุณพ่อเป็นพิเศษไว้ ณ ที่นี้ "คุณพ่อกอลมเบต์ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสอาสนวิหารในปี ค.ศ.1875 แล้วท่านก็ดำรงตำแหน่งนี้ต่อไปจนถึงวันมรณภาพของท่าน เมื่อตอนที่มิชชันนารีหนุ่มผู้นี้เป็นเจ้าอาวาสวัดอัสสัมชัญนั้น วัดที่เราเรียกว่าอาสนวิหารนี้ยังเป็นเพียงแค่อาคารธรรมดา สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1809 ตามแบบวัดไทยในสยาม และมีคริสตังจำนวนน้อยประมาณเกือบ 300 คน
               ดังนั้นสถานการณ์จึงดูเหมือนว่ามืดมนมาก และงานแพร่ธรรมซึ่งค่อนข้างจำกัดของวัดเล็กๆ นี้จึงไม่พอเพียงที่จะให้ท่านมีกิจการจนล้นมือ นอกนั้นคุณพ่อยังเข้าใจทันทีว่าในการจะฟื้นฟูและพัฒนาวัดนี้อย่างจริงจัง ต้องดำเนินงานให้การศึกษาอบรมเด็กๆ ด้วยจิตตารมณ์คริสตัง คุณพ่อคาดหวังว่าโรงเรียนจะช่วยทำให้งานนี้ประสพผลสำเร็จ ที่วัดนี้ยังไม่มีโรงเรียนประจำวัด คุณพ่อกอลมเบต์จัดสร้างโรงเรียนแห่งหนึ่งขึ้น ท่านคงจะคิดไว้แล้วว่าจะให้พวกเด็กกำพร้าทุกคน พวกลูกๆ ของชาวยุโรป ซึ่งอยู่ในอันตรายอย่างใหญ่หลวงทั้งทางด้านวิญญาณและร่างกาย ภายในตัวเมืองนี้ ได้รับประโยชน์จากโรงเรียนดังกล่าวนี้ด้วย ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม อาคารเดิมต่างๆ ของบ้านเณร ซึ่งพวกนักเรียนเพิ่งถูกส่งไปอยู่ที่บางช้าง ไม่มีใครใช้ คุณพ่อกอลมเบต์จึงขอพระคุณเจ้าเวย์ และใช้เป็นโรงเรียนประจำวัดของท่านในปี ค.ศ.1877
                  ตอนช่วงแรกๆ ได้รับการบรรเทาใจไม่เท่าไหร่ และถ้าเป็นคนอื่นที่มิใช่คุณพ่อกอลมเบต์แล้ว ก็คงจะล้มเลิกกิจการดำเนินงานซึ่งบางคนเห็นว่ายังไม่ควรแก่เวลา แทนที่จะถอยหลัง ในปี ค.ศ.1879 คุณพ่อเพิ่มแผนกภาษาอังกฤษเข้ามาควบคู่กับแผนกภาษาฝรั่งเศส ในระยะนี้คุณพ่อได้จัดแผนกการศึกษาที่สมบูรณ์แบบขึ้น และประกาศในปี ค.ศ.1885 เปลี่ยนโรงเรียนประจำวัดนี้เป็น "วิทยาลัย" เปิดรับเด็กๆ ทุกคนในกรุงเทพฯ วันเปิดเรียนมีนักเรียนมา 33 คน จำนวนน้อยจริงนะ ทั้งคุณพ่อกังต็องซึ่งเป็นมือขวาของคุณพ่อกอลมเบต์จนถึงวันตาย และนายโดโนแวน เป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ ซึ่งคุณพ่อจ้างมาพิเศษจากกรุงลอนดอน รู้สึกงงงวยนิดหน่อยที่มีนักเรียนน้อยเช่นนี้ ส่วนคุณพ่อกอลมเบต์เองไม่ตกใจอะไร ท่านรอเวลาที่พระญาณสอดส่องจะอำนวย และท่านก็ทำถูก เพราะเมื่อสิ้นปีแรกมีนักเรียน 80 คน และปีต่อมาท่านรับนักเรียนได้ 130 คน แบ่งเป็นแผนกภาษาอังกฤษ 6 ชั้น และภาษาฝรั่งเศส 3 ชั้น
                 การที่มีนักเรียนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นนี้ เป็นเหตุให้คุณพ่อกอลมเบต์ต้องเป็นห่วงหนักใจ เพราะจำเป็นต้องคิดถึงการก่อสร้าง พระคุณเจ้าเวย์ให้การสนับสนุนเต็มที่ แต่ว่ามิสซังไม่มีเงินจะช่วย เอาละ มิชชันนารีผู้กล้าแข็งของเราจะต้องออกขอรับบริจาค วันที่ 6 มกราคม ค.ศ.1887 คุณพ่อเสนอแผนผังของวิทยาลัยในอนาคตของท่านต่อสมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ พระองค์ท่านเห็นชอบด้วยทั้งหมด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจุฬาลงกรณ์ทรงบริจาค 4,000 ฟรังก์ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงบริจาค 2,000 ฟรังก์ บรรดาเจ้านายและข้าราชการชั้นสูงก็ร่วมบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลครั้งนี้ด้วย หนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ ก็ช่วยโฆษณาเชิญชวนสละทรัพย์ในหมู่ชาวยุโรป โดยเขียนเรื่องน่าสรรเสริญมากที่สุดเกี่ยวกับงานของคุณพ่อกอลมเบต์ ท่านคงจะสามารถสร้างวิทยาลัยของท่านได้ สยามมกุฎราชกุมาร เจ้าฟ้าวชิรุณหิศ ทรงเป็นผู้วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1887 และตอนต้นปี ค.ศ.1889 วิทยาลัยแห่งใหม่ก็เปิดทำการสอน จริงอยู่ในปี ค.ศ.1891 ยังมีนักเรียนเพียงแค่ 400 คน แต่บรรดาเจ้านาย ข้าราชการ และชนชั้นนำของสังคมในนครหลวงก็ส่งลูกๆ มาเรียน
                 คุณพ่อกอลมเบต์ผู้ซึ่งมีความเสียสละอย่างไม่มีขีดจำกัด ตัดสินใจที่จะเชิญคณะนักบวชคณะหนึ่งมาช่วยงาน ท่านไปฝรั่งเศส เจรจากับภราดาคณะเซนต์คาเบรียล ซึ่งยอมรับข้อเสนอของท่าน และส่งอาจารย์มาช่วยงาน ปี ค.ศ.1900 วิทยาลัยมีนักเรียน 1000 คน ปี ค.ศ.1920 มีนักเรียน 1800 คน และปัจจุบัน (ปี ค.ศ.1933 ) มีมากกว่า 2000 คน ในทุกกรมกองข้าราชการ และในทุกวงการธุรกิจ เราจะพบคนทั้งหลายในสยามที่เคยมาเรียนในโรงเรียนอัสสัมชัญ และภูมิใจที่ได้มาเรียนที่นั่น  หลังจากที่พวกภราดามาถึงแล้ว คุณพ่อกอลมเบต์ก็ยังดูแลสมาคมศิษย์เก่าซึ่งท่านเพิ่งตั้งขึ้นมา และดูแลกิจกรรมต่างๆ ของอาสนวิหารซึ่งท่านได้รับมอบหมายอยู่ เสมออย่างขยันขันแข็งขึ้นอีก วัดหลังเดิมใหญ่ไม่พอจุคนที่มาร่วมพิธีเสียแล้ว เพราะจำนวนคริสตังชาวพื้นเมืองเพิ่มขึ้น และชาวยุโรปคาทอลิกก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
                 คราวนี้เจ้าอาวาสลงมือถือถุงทานออกไปขอรับบริจาค อาศัยความใจกว้างของคนทั่วไป คุณพ่อจึงสามารถลงมือสร้างอาสนวิหารใหม่ได้ต่อไปในปี ค.ศ.1906 และพระคุณเจ้าบูซือต์ ผู้มาร่วมพิธีอภิเษกพระสังฆราชแปร์รอส เป็นผู้เสกศิลาฤกษ์อย่างสง่าในปี 1910 แปดปีให้หลัง อาสนวิหารก็สร้างเสร็จ และเปิดให้ทำการประกอบพิธีศาสนาในปี ค.ศ.1918..." (หลักฐานเล่ม 5 หน้า 53-57)
                 ในวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ.1933 มิสซังฯ และสัตบุรุษวัดอัสสัมชัญต้องสูญเสียบุคคลผู้ความสำคัญและมีพระคุณไป ในรายงานประจำปี ค.ศ.1933 หน้า 261 พระสังฆราชแปร์รอสได้เขียนถึงการสูญเสียคุณพ่อกอลมเบต์ มิชชันนารีอาวุโส ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาไว้ว่าดังนี้  "...วันที่ 23 สิงหาคม เราสูญเสียมิชชันนารีอาวุโสคือ คุณพ่อกอลมเบต์ ที่นับถือของเราซึ่งมรณภาพเมื่ออายุ 85 ปี หลังจากทำงานมิสซังได้ 62 ปี งานของคุณพ่อผู้ก่อตั้งโรงเรียนอัสสัมชัญนี้ นับเป็นงานอันยิ่งใหญ่น่าสรรเสริญ ท่านได้รับมอบหมายให้ปกครองวัดอัสสัมชัญตั้งแต่ปี ค.ศ.1875 ก็ท่านนี้แหละคือผู้บันดาลให้วัดอัสสัมชัญเป็นดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ความเจริญรุ่งเรืองในงานทั่วๆ ไปอย่าง มากของมิสซังนั้นเป็นผลอันเกิดจากความคิดริเริ่มอันเพียรพยายามโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของคุณพ่อ ท่านเป็นรองประมุขมิสซังตั้งแต่ปี ค.ศ.1907 และรั้งตำแหน่งประมุขมิสซังชั่วคราวหลังการมรณภาพของพระสังฆราชเวย์ ท่านสามารถทำให้การติดต่อกับรัฐบาลซึ่งดำเนินการมาหลายปีแล้ว เพื่อมุ่งจะให้มีพระราชบัญญัติอนุมัติให้มิสซังคาทอลิกมีสิทธิ์ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นผลสำเร็จ คุณพ่อองค์นี้เป็นที่รู้จักทั่วประเทศ ได้มีส่วนสำคัญในการสร้างบรรยากาศซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้บุคคลสำคัญผู้หนึ่ง ขนานนามอย่างเปิดเผยว่า "บรรยากาศคริสตังในกรุงสยาม" มรณภาพของท่านเป็นโอกาสให้หลายคนมาแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อมิสซัง และแสดงความรู้คุณ ความรัก ต่อผู้ซึ่งทุกคนถือว่าเป็นนักอบรมผู้ยิ่งใหญ่ ชาวสยามจะคิดถึงท่านตลอดไป..."



สถาปัตยกรรม
     I. อาสนวิหารอัสสัมชัญ

โบสถ์อัสสัมชัญ ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกในราวปี ค.ศ.1809 (พ.ศ.2352 แบบไทย) โดยบาทหลวงปัสกัล เพื่อเป็นการถวายเกียรติแด่แม่พระยกขึ้นสวรรค์ แล้วเสร็จในปี ค.ศ. 1821 (พ.ศ. 2364) และได้รับการสถาปนาเป็นอาสนวิหารอัสสัมชัญในปีถัดมา
ในปี ค.ศ. 1909 (พ.ศ. 2452) ได้รับการสร้างโบสถ์หลังใหม่( หลังปัจจุบัน) เพื่อรองรับการขยายตัวของคริสตชน ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยสถาปนิกชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ออกแบบ และควบคุมการก่อสร้าง วัสดุส่วนใหญ่ เช่น หินอ่อน และกระจกสี สั่งเข้ามาจากฝรั่งเศส และอิตาลี มีรากฐานเป็นท่อนซุงจำนวนมาก มัดเรียงกันเป็นแพ แทนการใช้เสาเข็ม ในระยะสงครามโลกครั้งที่ 2 ตัวโบสถ์ได้รับความเสียหายจากแรงระเบิด จึงได้มีการซ่อมแซม และมีการใช้เหล็กโยงกลางอาคารเพื่อเสริมแรงดึงผนัง ทั้ง 2 ด้านเข้าหากัน
ตัวอาคาร ถูกวางตามแนวแกน ทิศตะวันออก และตะวันตก ภายในแบ่งเป็น 4 ส่วน คือ ส่วน ประกอบพิธีกรรม ซึ่งมีพระแท่นหินอ่อนขนาดใหญ่ เป็นที่พระสงฆ์ใช้ประกอบพิธีทางศาสนา(1) ส่วนที่ นั่งของผู้มาร่วมพิธี(2) ซึ่งทั้ง 2 ด้านเป็นช่องคูหาขนาดใหญ่ เป็นที่ประดิษฐานรูปพระและนักบุญต่างๆ(3) ส่วนโถงทางเข้า(4) โดยมีระเบียงโอบล้อมรอบ ซึ่งเหนือโถงทางเข้าเคยใช้เป็นที่สำหรับนักขับร้อง และออร์แกนขนาดใหญ่ ทั้งผนัง และเพดานประดับประดาด้วย จิตกรรมแบบเฟรสโก และประติมากรรม ปูปั้นนูนสูงต่ำ แสดงเรื่องราวและความชื่อทางศาสนา
รูปแบบทางสถาปัตยกรรมของ อาสนวิหารอัสสัมชัญ ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมสมัย RENAISSANCE ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมในยุคต้นศตวรรษ ที่ 15 ในประเทศอิตาลี และได้แพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวางในทวีปยุโรปโดยนำเอารูปลักษณ์ และองค์ประกอบในยุค CLASSIC(โรมัน) กลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง แต่ใช่กรรมวิธีและเทคนิคการก่อสร้างจากยุค GOTHIC ก่อนหน้านั้น
           ลักษณะที่เห็นเด่นชัดคือ การคำนึงถึงสมดุล (SYMMETRY) เป็นหลักใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นผนังอาคาร หอคอย ซึ่งขนาบทั้ง 2 ด้าน ของทางเข้าซุ้มประตู และหน้าต่างยอดครึ่งวงกลม(SEMICIRCULAR ARCHES) ซึ่งรายรอบอาสนวิหารแห่งนี้ ก็ยังแสดงออกถึงความสมดุลดังกล่าว นอกจากนั้น บริเวณมุมอาคารยังมีการเน้นให้เห็นความมั่งคง โดยการแต่มุมอาคารเลียนแบบหินทรายก้อนโตเรียงสลับแบบ QUOINS ซึ่งเป็นการสลับด้านยาว(STRETCHERS) และยอด (HESDERS) มีจุดเด่นอยู่ที่หน้าจั่ว(PEDIMENT) แบบ LOW PITCH  คือ มีความลาดชันน้อย อันเป็นอิทธิพลมาจากสมัย CLASSIC ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับการใช้เสาโรมันแบบ COMPOSITE รับโค้งประทุน(ARCH) ภายในอาสนวิหารแล้ว ยิ่งแสดงให้เห็นถึงสถาปัตยกรรมในยุค RENAISSANCE อย่างชัดเจน
ในยุคเดียวกัน ศิลปกรรมแขนงอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นจิตกรรม ประติมากรรม งานโลหะ และงานสีต่างๆ ก็ได้รับการพัฒนาอย่างกว้างขวาง และถูกนำมาประยุกต์ใช้ตกแต่ง ประดับประดางานสถาปัตยกรรมให้มีความสวยงามยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถเห็นได้ชัดเช่นกันภายในอาสนวิหารแห่งนี้



เหตุการณ์สำคัญ ของวัดอัสสัมชัญ 

                 ตั้งแต่ปี ค.ศ.1942 ได้เกิดสงคราม เครื่องบินมาทิ้งระเบิดในบริเวณวัดอัสสัมชัญ ทั้งระเบิดทำลายและระเบิดเพลิง อาคารต่างๆ รอบวัดได้รับความเสียหายมาก หมู่บ้านคริสตังก็ถูกเผาผลาญหมด อาสนวิหารด้านซ้ายได้ถูกระเบิดทำให้ได้รับความเสียหายมาก กำแพงด้านในแตกหลายแห่ง รวมทั้งประตูหน้าต่าง, กระจก, เก้าอี้ ฯลฯ รูป 14 ภาคหลายรูปได้รับความเสียหาย นายช่างชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่งได้มาสำรวจ และเสนอให้ใส่เหล็กโยงกลางวัด คุณพ่อแปรูดงต้องซ่อมแซมหมดทุกอย่าง สิ้นเงินค่าใช้จ่ายทั้งหมด 77,200 บาทในสมัยนั้น ตามรายงานประจำปี ค.ศ. 1941-1947 หน้า 301 ได้กล่าวไว้ว่า "...กรุงเทพฯ ถูกลูกระเบิดอยู่บ่อยๆ อาสนวิหารอัสสัมชัญถูกระเบิดเข้าลูกหนึ่ง ทำให้ผนังโบสถ์เป็นรูโต อาคารทั้งหลังสั่นสะเทือนเกิดความเสียหายมาก โรงเรียน วัด และบ้านเรือนของพวกคริสตังกลุ่มหลัก กลายเป็นเถ้าถ่านไปหมด โรงเรียนอัสสัมชัญรอดพ้นจากไฟไหม้ไปได้อย่างอัศจรรย์..."
                 ถึงแม้คุณพ่อแปรูดงจะได้จัดการซ่อมแซมวัดที่เสียหายเพราะระเบิดของสงครามแล้วก็ตาม แต่ร่องรอยของระเบิดยังปรากฎอยู่มาก ในการซ่อมแซมครั้งนั้น นายบัว ประคองจิต (บิดาของพระสังฆราชมีแชล มงคล ประคองจิต) ได้เป็นผู้สำรวจท่อนซุงซึ่งเป็นรากฐานของวัด และพบว่ายังคงอยู่ในสภาพดี นายบัว ประคองจิต ได้ศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมจากนายช่างชาวอิตาเลียน และได้ใช้วิชาความรู้สร้างวัดวาอารามหลายแห่ง นับเป็นผู้มีพระคุณต่อวัดอัสสัมชัญด้วย นายบัวได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ.1968 รวมอายุได้ 88 ปี มิสซาปลงศพได้กระทำที่อาสนวิหารอัสสัมชัญเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ.1968 

บทวิเคราะห์คุณค่า

       I.ด้านสังคมศาสตร์
        เราจะเห็นได้ว่า โบสถ์อัสสัมชัญแห่งนี้ มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน และละเอียดอ่อนต่อศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิค ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการเผยแพร่ศาสนาของคุณพ่อท่านต่างๆ และความเสียสละอย่างใหญ่หลวง ซึ่งมีผลกระทบทำให้สังคมของคาทอลิค มีพื้นที่ในการประกอบพิธีและถือเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งรากฐานของชุมชนคริสต์บริเวณย่ายถนนเจริญกรุงอย่างแท้จริง ในอีกแง่การที่มีโบสถ์อัสสัมชัญนั้น เป็นการเปิดพื้นที่ให้ชาวคาทอลิคสามารถแสดงตัวอย่างเปิดเผย และส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนยังโรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนอัสสัมชัญศึกษาและโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนด์ได้อย่างวางใจ เพราะมีสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอันยิ่งใหญ่อยู่ในบริเวณโรงเรียน ในปัจจุบันโบสถ์อัสสัมชัญ ยังเป็นสถานที่รับจัดงานทางศาสนาและพิธีกรรมแต่งงานที่ชาวคริสต์มักนิยมมาจัดที่นี่ เนื่องจากความอลังการของสถาปัตยกรรม และทำเลที่ตั้งอยู่ในเขต "บางรัก" ซึ่งมีความเป็นมงคลอย่างยิ่ง

      II.ด้านสถาปัตยกรรม
       ดังจะเห็นได้ว่าโบสถ์อัสสัมชัญ มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมแบบ Renaissance ซึ่งมีส่วนประกอบของจั่วแบบ Low Pitch มีความลาดชันต่ำ เสาแบบโรมันมีการประดับประดาหัวเสาตามแบบ Composite และยังมีซุ้มทางเข้าด้านหน้าที่มีลักษณะของ Arch โค้งอีกด้วย ประกอบกันนี้ยังมี Stain Glass ประดับรายรอบอาคารซึ่งแสดงเหตุการณ์สำคัญต่างๆตามพระคัมภีร์ ด้านในเป็นเพดานสูงซึ่งมีกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมแบบ Gothic ผสมอยู่ ซึ่งแสดงออกถึงความสูงส่งของพระผู้เป็นเจ้าและความอลังการของสถาปัตยกรรมซึ่งสามารถสร้างโครงสร้างพาดช่วงกว้างด้วยอิญก่อ ตั้งแต่ ศตวรรษที่ 19 ซึ่งหากจะกล่าวบนความจริงแล้ว โบสถ์อัสสัมชัญแห่งนี้เป็นอาคารที่เป็นมรดกของประเทศไทยด้วยตัวสถาปัตยกรรมเองและฝีมือการก่อสร้างที่ประณีต ซ้ำยังเป็นอาคารอนุรักษ์ห้ามทุบทำลาย เพราะเป็นอาคารเก่าที่ผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 มาแล้ว ถึงแม้จะโดนระเบิดบริเวณด้านซ้ายของอาคาร แต่ก็บูรณะให้กลับมามีสภาพสวยงามสง่าดังในปัจจุบันได้


วันเสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556


สถาปนิก Idol
พี่อนุชล (สถ.รุ่น 10)
ณ บริษัทคอนทัวร์ จำกัด พัฒนาการซอย 9-11


หนึ่ง : เริ่มละกันเลยนะครับ ก็พี่น้ำน้อยเรียนจบจาก สถ. ลาดกระบังปีไหนอะครับ?
พี่น้ำน้อย : ปี 2500…. ผมเข้าปี 21 อะ เข้าปี 21 ก็จบประมาณ 26

หนึ่ง : ละตอนนั้นคือเค้านับเป็นรุ่นรึยังอะครับ?
พี่น้ำน้อย : รุ่น 10 ตอนนี้รุ่นที่เท่าไหร่

หนึ่ง : ตอนนี้ผมรุ่น 37 ครับ
พี่น้ำน้อย : อืมม

หนึ่ง : (หัวเราะ) พอจบแล้วทำงานหรือต่อโทที่ไหนไหมครับ?
พี่น้ำน้อย : ผมจบแล้วผมไปทำงานที่บริษัทมาคอน เป็นบริษัท Architect ทำอยู่ปีนึง ละก็ไปนั่งเขียน Perspective อย่างเดียวอีกปีนึง ไม่สิ 3-4 ปีอะ คือรับเขียน Perspective ประมาณ 3 ปี

หนึ่ง : อ๋อ แล้วคือแบบนี้ก็ไม่ได้รับทำงานออกแบบอะไรเลยหรอครับ รับเขียนตีฟอย่างเดียว?
พี่น้ำน้อย : เขียนตีฟอย่างเดียวออกแบบนิดหน่อย ส่วนใหญ่คือเขียนตีฟ เพราะว่ามันมีคนจ้างเขียนตีฟเยอะก็เลยไม่ได้ไปยุ่ง แต่จริงๆเวลาเราเขียนตีฟอย่างเดียวเลยคือมีข้อดีอย่าง คือเราได้ฟังบรีฟเวลาเราเขียนตีฟอะไรเนี่ย เค้าก็จะบรีฟคอนเซปว่าอันโน้นอันนี้เป็นยังไง แต่ความรู้สึกเราคือเราก็รู้สึกอยากจะออกแบบตลอดเวลา เพราะว่าปกติเนี่ย คือตอนเราผมเป็นคนชอบออกแบบ แต่ตอนที่เราเขียนตีฟเนี่ย ทุกวันเราก็ยังคิดว่า ถ้าเกิดเราจะสร้างบ้านตัวเองเนี่ย เราจะออกแบบยังไง คือมันจะมีจินตนาการในการออกแบบบ้านเราทุกวัน แต่ว่าหนังสือในพวกสมัยก่อนมันไม่มีเว็ปไซต์ เราก็ต้องซื้อหนังสือพวก Interior Design Architecture Digest อะไรพวกนี้มาดู มาดูบ้านในฝัน บ้านและสวน ก็คือจะตามข่าวสารไปเรื่อยๆ และก็พอเขียน Perspective ก็พอมีรุ่นพี่เรา พี่ที่เป็นประธานโรงพยาบาลศีลแพทย์ ที่เป็นเจ้าของโรงบาลศีลแพทย์ เอ่อ ตอนนั้นเค้าเคยจ้างผมทำงานเขียน Perspective ตั้งแต่ผมเรียนปี 2 แล้วก็ผมมันมีอยู่ช่วงนึงผมอยากมีบริษัท อยากมีออฟฟิตเป็นของตัวเอง ผมก็เลยไปชวนเพื่อนมา Interior  2 แล้วก็มีผมเป็น 3 คน แล้วก็มีพี่คนนี้อีกคนนึง ไปเช่าตึกแถวชั้นล่างทำออฟฟิตกัน แต่ว่าออฟฟิตเนี่ย คือเป็นเจ้าของ 4 คนต่างคนต่างทำนะ แต่ว่าผมก็มีลูกน้อง 1 คน นอกนั้นก็มีลูกน้องคนละ 1 คน ออฟฟิตนี้เลยมี 8 คน 9 คนเพราะจ้าง Admin ไว้ 1 คน ก็เลยดูเหมือนเป็นออฟฟิตหน่อย

หนึ่ง : แล้วก็คือเริ่มต้นทำงานออกแบบแล้วใช่ไหมครับ?
พี่น้ำน้อย : เริ่มต้นทำงานออกแบบแล้ว แล้วที่โน่นก็ไปออกแบบโรงแรม South Sea ที่ภูเก็ตเป็นรีสอร์ท อันนั้นเป็นช่วงแรกๆ ละก็ทำออกแบบหมู่บ้านสินธานีอยู่แถวนวมินตร์ และก็เลยกลายเป็นว่าทำไปทำมา ผมกับพี่คนนี้ก็คือเหมือนกับทำงานด้วยกันตลอด โดยที่เค้าเป็นเจ้าของ Property คือเค้าเป็นเจ้าของโครงการ ผมเป็นสถาปนิก แล้วก็ทำไปได้ซักประมาณปี 30 ผมกับแกก็เลยเปิดเป็นบริษัทร่วมกัน ชื่อบริษัท Saw Plan ก็ส่วนใหญ่ออกแบบงานที่เกี่ยวกับ Real Estate สมัยนั้นก็ออกแบบ Imperial ลาดพร้าว โรงพยาบาลศีลแพทย์ โรงพยาบาลวิภาวดี นอกนั้นก็จะเป็นโครงการที่เป็นหมู่บ้านของบริษัทสินธานี แล้วก็คอนโดนิดๆหน่อยๆ

หนึ่ง : แล้วพี่น้ำน้อยมาอยู่ที่ Contour นี้ได้ยังไงอะครับ?
พี่น้ำน้อย : ตอนนี้ผมยังไม่มา Contour ตอนนี้แค่ปี 38 ยังไม่ถึงปี 40 เลย พอมาตอนปี 40 เนี่ยมันก็มีปัญหาเรื่องต้มยำกุ้ง ฟองสบู่แตกกัน ทุกโปรเจคที่ทำคือแบงค์ก็ไม่ปล่อยเงินให้แล้ว บริษัทก็ต้องหยุด บริษัทออกแบบเนี่ยก็ต้องหยุด แต่ผมเป็นกรรมการบริษัท Real Estate คือเป็นกรรมการบริษัท มันก็มีหน้าที่เกี่ยวกับดูแลโครงการ แล้วก็ดูเรื่องการตลาด ดูเรื่องการขาย ก็ต้องแก้ปัญหาอันนั้นไป ตอนที่ปี 40 ก็แก้ปัญหาไปถึงประมาณปี 45 ก็ขี้คา แต่ว่าก็เหนื่อยอะมันต้องปะทะกับลูกค้า 300 กว่ารายที่เป็นลูกค้าที่จ่ายเงินมาแล้ว แต่เค้ายังไม่ได้บ้าน เราก็ต้องไปแก้ปัญหาให้เค้า คือทางเลือกมีสองทางคือ เค้าก็มีโอกาสได้บ้าน หรือไม่ก็คือได้เงินคืน แต่ถ้าเราไม่ทำต่อ เราก็โดนฟ้องล้มละลายไป แต่ทุกคนก็ไม่ได้อะไรไป แต่ผมในฐานะคนทำงานไม่ใช้เจ้าของกิจการ ผมก็เห็นสภาพนี้ผมก็คิดว่า เราต้องช่วยเค้า เราต้องช่วยทั้งคู่คือลูกค้าที่จ่ายตังค์มาแล้ว เค้าก็ต้องได้บ้าน ส่วนเจ้าของโครงการก็คือพยายามช่วยเท่าที่เราช่วยได้ เพราะเราเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกัน แก้กันจนปี 45 ก็โอเค หลังจากนั้นก็มาอีกรอบนึงเป็นบริษัทออกแบบ แต่บริษัท Saw Plan นี่ก็จบไป พนักงานก็โดนเลิกจ้าง คอมพิวเตอร์ที่เรามี เราก็จ่ายค่าชดเชยเป็นอุปกรณ์ไปหมด คือเราไม่มีเงินแล้ว ก็คือจบไป รอบที่สองก็คือบริษัท A Architect ก็เริ่มออกแบบโครงการโรงพยาบาล แต่เราไม่อยากใช้ชื่อบริษัทเดิม เพราะมันจะมีปัญหาเกี่ยวกับชื่อเรื่องปี 40 แล้วก็มาออกแบบโรงพยาบาลอมตะ เสรีรักษ์ตรงสุขา 2 ออกแบบโรงพยาบาลสุขุมวิทข้างวันธาตุทอง โรงพยาบาลรามคำแหง ส่วนใหญ่ก็คือทำโรงพยาบาล แต่ตอนที่เราออกแบบเราก็ต้องบริหารงานในสำนักงานด้วย เราก็ต้องดูแลโครงการที่ทำอยู่ด้วยพวกโครงการสินธานี คือออกแบบและดูแลไปด้วย เราแค่ออกแบบแล้วให้เด็กไปทำต่อจนจบ ก็ทำอย่างนี้จนปีช่วงหลังๆบริษัทเราก็มีธุรกิจเช่า Apartment ปัจจุบันใช้ชื่อว่า สินสิริ มันเป็นห้องเช่า แล้วตอนหลังก็มาเปลี่ยนเป็นมีรายวันรายเดือน ต้องไปช่วยเค้าดูแลด้วย ก็มีคนชุดนึงดูแล แต่เราก็ต้องคอยไปบริหารจัดการให้เค้า คือหน้าที่ก็คือว่าเราต้องวิเคราะห์ให้เค้า ว่าแต่ละโปรเจคเนี่ยเป็นยังไง จะต้องทำอะไร ก็คือเหมือนเป็นผู้บริหารของธุรกิจ ตอนนี้คือผมออกแบบ ดู Real Estate ดูแลธุรกิจเช่า 3 อย่างแล้วนะมันเยอะละ แต่เวลาผมทำจริงๆคือ เราบริหารเราก็ต้องทำเองด้วย Excel เราก็ใช้ CAD ก็ใช้เยอะแยะไปหมด ตอนหลังก็เริ่มมาอีกที มันก็จะมีตึกแถวที่ไม่ได้ใช้งาน เค้าก็คิดเอามาทำร้านอาหาร ผมก็เลยกลายเป็นผู้บริหารร้านอาหาร ชื่อร้านเชิงตะวัน เมื่อก่อนเชื่อทานตะวัน ก็บริหารกันไป กลายเป็น 4 อย่างละ พอมาคุยกันอีกที พี่เค้าก็เริ่มบอกว่า พี่อยากทำเซเว่น ผมเลยตอนหลัง 2-3 เดือน ตอนนี้ผมทำ 4 อย่างมันมีอย่างเดียวที่ผมคิดว่าโอเค คือการออกแบบ แต่ว่า Property ทำร้านอาหาร ทำเช่า พวกนี้มันเป็นงานที่แบบคือมันเป็นงานค้าขาย ซึ่งมันไม่ใช่ค้าขายเรื่องการออกแบบ เราออกแบบเอง ทำเอง คิดเอง พัฒนาการของเราผมคิดว่ามันคงไม่ใช่ในทิศทางของการออกแบบ แต่พัฒนาในเรื่องของบริหารจัดการ มันก็จะกลายเป็นว่าถ้าเราเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ เราก็ต้องหยุดออกแบบ เราก็เลยบอกพี่เค้าว่า ผมว่ามันไม่ใช่แบบผมแล้วละ มันไกลเกินไปแล้ว คือผมจบ Architect มา ผมเลยบอกเค้าตรงๆว่าผมจะไปหาที่ใหม่ทำงาน แต่จริงๆคือผมได้ที่ทำงานแล้ว เพราะมีคนโทรมาถาม แล้วเราก็โทรไปถามเพื่อนที่เป็นเจ้าของ I760 ว่าสถาปนิกรุ่นผมเนี่ย เดี๋ยวนี้เงินเดือนมันเท่าไหร่แล้ว มันก็เลยไม่ได้พูดอะไร มันก็เลยบอกผมว่าผมสนใจไหม ถ้าสนใจมันจะชวนผมไปทำ ผมก็เลยไปทำที่นั่น แต่ก่อนที่จะจบเนี่ยผมก็ไปเรียนปริญญาโท ตอนที่งานที่บริษัทสินธานีก็เรียนปริญญาโทที่ Eastern Asia เรียนตอนปี 51 ตอนผมเรียนผมจำได้ว่าผมอายุ 50 แล้วละ ผมจบริญญาโทตอนอายุ 51 ได้แล้วมั้ง แต่ตอนเรียนปริญญาโทตอนอายุมากๆมันมีข้อดีคือ เรามีประวัติด้านการบริหารมา แล้วพอเราไปเรียนบริหารอีก ไอคำถามที่เคยถามตัวเองมันมีคำตอบอยู่ในกระดาน แล้วก็เลยเอามาใช้กับการบริหารงานปัจจุบัน เริ่มแนะนำให้เค้าใช้ระบบ Time Sheet มีกรวิเคราะห์ต้นทุนของแต่ละโปรเจค ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ผมคิดว่ามันน่าสนใจจากการเรียน จริงๆผมว่ามันใช้ประโยชน์ได้เยอะ แล้วมันก็จะทำให้เราเข้าใจในแง่ของการทำงานมากขึ้นนอกจากเป็นสถาปนิก เพราะในความเป็นจริงทุกอย่างมันเป็นธุรกิจ ธุรกิจไม่เกิดสถาปนิกก็ไม่มีงานทำ เพราะนั้นถ้าเราไม่เข้าใจธุรกิจ ก็เหมือนกับเราเข้าใจตัวเราเองอย่างเดียว แต่มันไม่ตอบสนองความเป็นจริง คือในแง่ธุรกิจ ทำไมมันต้องเกิดบริษัทออกแบบ ถ้าสมมุติว่าตอนนี้เรานั่งทำงานออกแบบอยู่ที่บ้านเป็น Freelance อยู่คนเดียว มีงาน 2 งาน 3 งานก็ยังพอทำคนเดียวได้ แต่ถ้าเกิดงานมันใหญ่ขึ้น เราก็ทำคนเดียวไม่ได้แล้ว ทำคนเดียวมันไม่เสร็จมันไม่ทัน เราก็ต้องหาคนมาเพิ่ม พอหาคนมาเพิ่มเหมือนค่าใช้เพิ่ม แต่ว่าค่าใช้จ่ายที่เพิ่ม มันก็ทำให้รายได้เพิ่มด้วย คือทุกคนที่จ้างเข้ามาเพิ่มเนี่ย คือมันมีการจ่ายค่าใช้จ่าย และมีรายรับที่เพิ่มเป็นเป้าหมายในการจ้างคนเพิ่ม ถ้าเกิดไม่จ้างคนเพิ่ม รายได้ก็ไม่เพิ่มโดยธรรมชาติ นัยความหมายมันง่ายๆ แต่พอมันเพิ่มมากๆมันก็เริ่มจะเป็นองค์กร พอมันเป็นองค์กรมันก็ต้องมีฝ่ายบุคคล เก็บเงินก็ยุ่งก็ต้องจ้างคนมาเก็บเงิน ต้องหารบัญชีมาดูว่าขาดทุนหรือกำไร มันก็เป็นวงจรแบบนี้ ภาษาธุรกิจคือ PDCA หมายถึง Plan Doing Checking Action คือต้องมีการวางแผนคือ Organize และมีวิธีควบคุมการทำงานว่าเป็นยังไง พอเราควบคุมได้แล้ว เราก็ต้องมาเช็คว่างานที่ทำออกมาเป็นยังไง คุณภาพแค่ไหน แล้วเราก็มาหาวิธีการปรับปรุงแก้ไข ถ้าทำอย่างนี้ตลอดเวลา องค์กรเราก็ต้องดีเพราะงั้นเนี่ยมันเป็นเบสิกในแง่ของการบริหารจัดการ ส่วนใหญ่ที่เราเรียนสิ่งที่เราขาดคืออันนี้แหละ ตอนสมัยเรียนเนี่ย ถ้าคุณจะเอา Artist นะ ตอนสมัยเรียนผมก็ว่าผม Tist อะ


หนึ่ง : (หัวเราะ)
พี่น้ำน้อย : จริงๆตอนทำงานแรกๆเนี่ย ใครอย่ามาพูดเรื่องเงินกับผมนะ ผมไม่เอา ผมไม่รู้ คือไม่อยากคิดเรื่องเงิน เพราะเราไม่มีความรู้ ตอนแรกเราไม่อยากคิดเรื่องเงินเพราะคิดว่าเดี๋ยวมันจะทำให้เราทำงานไม่ได้ แต่ความจริงมันไม่ใช่ แต่เป็นเพราะผมไม่รู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำวันนี้คือมันเกี่ยวกับเรื่องเงิน แต่ความที่เราไม่รู้เพราะว่าเราไม่ได้เรียน จึงทำให้เราไม่สามารถคิดได้ว่าเราควรจะทำยังไง แต่พอเรารู้เราก็ยอมรับว่าเรื่องเงินมันคือธุรกิจ มันมีผล ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องเงิน เพราะนั้นถ้าคุยจะทำให้มันประสบผลสำเร็จมันก็ไม่พ้นเรื่องเงิน แต่ใช้เงินอย่างให้มีศิลปะ คือไม่ได้ใช้แบบอะไรก็ทำ เหมือนเราทำตึก 4 ด้านเราคงไม่เอาเงินใส่พื้นที่ทั้งที่ 4 เท่ากันทุกด้านหรอก ด้านหน้าอาจจะมากที่สุด ด้านข้างอาจจะน้อย ด้านหลังอาจจะน้อยที่สุด แต่ในตึกที่มันสร้างไม่มีตึกไหนที่ไม่แข่งกับตึกอื่นในแง่ของธุรกิจหรอก สมมุติว่าเราทำตึกแบบเดียวกัน เวลาคุณขาย ตารางเมตรละ 50,000 อีกตึกก็ต้องขาย 50,000 หรือไม่ก็ต่ำกว่าเราถึงจะแข่งกับเค้าได้ เราถึงจะชนะ ดังนั้นคุณจะทำยังไงให้ธุรกิจเค้าไปได้ ถ้าคุณจะขายให้ได้ไม่เกิน 50,000 ค่าก่อสร้างคุณก็ต้องไม่แพงกว่าเค้า มันก็เป็นโจทย์เรื่องเงินโดยเฉพาะเลยนะ เพราะงั้นไอวิธีที่เราจะใช้ เราจะใช้มันยังไง สมมุติหมู่บ้านจัดสรร ทำไมทุกบ้านต้องใช้หลังคาซีแพค เราใช้กระเบื้องลอนได้ไหม แต่ที่อื่นเนี่ยเค้าใช้กระเบื้องพื้นเป็นไม้ลามิเนตสมมุตินะ กระเบื้องก็เพลนๆ ผมเปลี่ยนจะกระเบื้องไม้เป็นไม้จริง บันไดให้มันดีขึ้น พื้นดีขึ้น คือมันก็จะเกิดความแตกต่าง แต่ราคามันก็จะเท่ากัน เวลาซื้อมันก็จะเกิดความเปรียบเทียบว่าคุณชอบบ้านแบบไหน ถ้าคุณอยากอยู่สบายอยู่เท่ห์อยู่มันส์คุณก็ต้องซื้อบ้านหลังคากระเบื้องลอน ก็คือมันก็เหมือนกับวิธีการที่มันเกี่ยวกับเงิน เพราะงั้นมันก็เป็นคอนเซปอย่างนึงที่เราควรจะฝึกคิด ผมพูดอะไรที่มันเกิดขอบเขตรึเปล่าเนี่ย (หัวเราะ)

หนึ่ง : (หัวเราะ) ออ ไม่ครับไม่ครับ แล้วแบบนี้เวลาพี่น้ำน้อยปฏิบัติวิชาชีพเนี่ย มันมีอะไรที่เป็นอุปสรรคนอกเหนือจากเรื่องงานที่ต้องรับมาบริหารมันเยอะเกินไป มีปัจจัยอย่างอื่นไหมครับ?
พี่น้ำน้อย : งานออกแบบเนี่ยนะ ผมว่ามันมีตัวที่ ควบคุมไม่ได้มากๆเลยในงานส่วนใหญ่ มันคือ กฏหมาย เรื่องกฏหมายเนี่ยมันเป็นประเด็นที่หาข้อสรุปยาก เพราะคนที่จะใช้ข้อกฏหมายเนี่ยมันไม่ค่อยชัดเจนเท่าไหร่ แต่ไม่ใช่ว่าทุกตึกนะ บางตึกข้อกฏหมายมันก็ง่ายชัดเจน เหมือนทำแฟลท ทำอพาร์ทเม้นทำบ้านเนี่ยมันง่าย แต่ลองมาเป็นประเภทที่มันซับซ้อนในเรื่องของขนาด เรื่องข้อจำกัดเกี่ยวกับที่ดิน บางทีเค้าก็ไม่สามารถจะตอบได้ว่าหรือไม่ได้ ในกรณียกตัวอย่างเช่น เค้าบอกว่า ที่ดินที่จะสร้างอาคารขนาดใหญ่พิเศษได้เนี่ย มันต้องติดถนนเมนสาธารณะกว้างไม่น้อยกว่า 16 หรือ 18 เมตรเนี่ยแหละ โดยมีหน้าที่ดินไม่น้อยกว่า 12 เมตร อย่างน้อยนะ เมื่อก่อนผมเคยโดนด่าแม่เพราะว่า มันมีคลองมาคั่น คือคลองมันคั่นอยู่ตรงถนน แล้วมันจะทำยังไง ในแง่โฉนดคือมันไม่ติดที่ดิน แต่ในงาวิธีการใช้งานคือมันติด เพราะนั้นเค้าก็จะตอบว่าทำไงก็ไม่รู้ เราทำแบบไป 2 ปี ไม่มีคำตอบจนเจ้าของโครงการด่า แล้วอีกเรื่องคือกฏหมายสิ่งแวดล้อม มันก็ไม่ได้บอกว่าคุณต้องทำอย่างนี้ทำอย่างนั้น แต่มันก็จะมีคณะกรรมการตรวจ คือผมคิดว่ามันเลยกลายเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยุ่งยาก เพราะว่าในเวลาที่เราจะออกแบบ ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆเราจะออกแบบ เราต้องเอาพวกนี้แหละ มาเป็น Requirement อันนึงในการออกแบบ แต่นอกนั้นมันเป็นเรื่องของเรากับ Owner ซึ่งมันเป็นเรื่องที่เรายังคุยกันได้ คือจะสร้างเล็กสร้างใหญ่ มีเงินมาก มีเงินน้อย ยังไงมันก็ยังคุยกันได้ แต่ไอเรื่องข้อกฏหมายมันเป็นเรื่องยาก


หนึ่ง : แล้วพี่น้ำน้อยมีข้อคิดสำคัญในการทำงานอะไรบ้างครับ?
พี่น้ำน้อย : เอ่อ ผมชอบคิดอย่างนี้ว่า การทำงานคือ ผมชอบสอนน้องสมัยก่อนนี้ว่า การเป็นพนักงานคือการเป็นเถ้าแก่ที่มีรายได้แบบการันตี คือคุณจะได้ทุกเดือน คือถ้าคุณได้ 50,000 คุณก็จะได้ 50,000 ทุกเดือน แต่ผมอยากให้คุณคิดแบบเถ้าแก่ว่า คือคุณต้องคิดว่าคุณหนะมีรายได้ 50,000 บาท เนี่ยมันคือต้นทุน คุณต้องคิดว่าคุณต้องทำงานให้มันมีรายได้เท่าไหร่ มันถึงจะ Cover 50,000 สมุมติว่าเดียร์ (ผู้สัมภาษณ์ร่วม) ดีไซน์ห้องน้ำเนี่ยวันนี้ ถ้ามีคนอื่นมาจ้าง คุณจะคิดเค้าเท่าไหร่ แล้ววันถัดมาเราก็ทำงาน มันไม่ใช่ทุกวันก็ได้นะ มันนับเป็นชิ้น ต่อไปดีไซน์อะไรก็ได้อีกชิ้นนึงแล้วจบ มันจะบอกต้นทุนเงินว่าเรามีเท่าไหร่ แล้วถ้าคนอื่นจ้างอะเท่าไหร่

พี่เดียร์ : เหมือนลง Time Sheet รึเปล่าค่ะ?
พี่น้ำน้อย : ใช่ จริงๆมันคือ Time Sheet เพราะมันจะบอกว่าคุณทำงานโปรเจคนี้กี่ชั่วโมง พอในหนึ่งเดือน เดียร์ก็ไปดูที่เดียร์ทำ ว่าโปรเจคนี้ทำอะไรบ้าง ในแง่ของการคิดค่าใช้จ่าย มันก็คิดตามโปรเจคว่ามันเป็นเงินเท่าไหร่บ้าง เป็นต้นทุน ถ้าคนอื่นเค้ามาจ้างทำแค่นี้มันเป็นเงินเท่าไหร่ คือเงินเดือน 50,000 บาท ก็ต้องทำรายได้ประมาณคูณ 2.5 ก็ประมาณแสนกว่าบาท  ถึงจะอยู่ได้ คือตอบคำถามแบบง่ายๆว่า มีวิธีคิดคือการทำงาน คุ้มกับเงินที่ได้รับ

หนึ่ง : คำถามต่อไปนะครับ พี่น้ำน้อยคิดยังไงกับการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม ที่ตอนนี้มันกำลังมาเป็นเทรน พวก Green Design อะครับ?
พี่น้ำน้อย : วันก่อนเนี่ยมีคนมาสัมภาษณ์ผมว่า แนวโน้มของสถาปัตยกรรมเมืองไทยมันจะเป็นยังไง ผมก็ตอบว่า เอ่ย ผมไม่รู้ ผมไม่ตอบได้ไหม คือปกติผมไม่เคยคิดอะไรที่มันล่วงหน้าขนาดนั้น ผมคิดแต่ว่าโปรเจคที่ผมทำอยู่นี้ทำยังไง แต่ว่าในความเป็นจริง งาน Architecture เนี่ยมันสะท้อนมาจากปัญหาสังคมอยู่แล้ว เราก็พยายามไปแก้ปัญหามัน เรากำลังพูดถึง การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เรื่อง Green เรื่อง LEED คือยังไงมันก็ต้องเป็นเทรนต่อไปอีกยาวไกลเพราะว่ามันเป็นเรื่องปัญหาของโลก ไม่ใช่ปัญหาของเราคนเดียว และทุกวันมันก็จะมีกฏเกณฑ์ทำให้เราไปทางนั้นเรื่อยๆ เค้าจะไม่ปล่อยให้คุณสบายๆ อยากทำอะไรก็ทำ ทำห้างก็ใช้ไฟเท่ากับจังหวัด 1 จังหวัด เค้าก็ต้องหาวิธีจำกัด แต่ในอนาคตผมว่ายังไงมันก็ต้องมีกฏออกมา

พี่เดียร์ : คือว่าต้องเตือน ต้องมีแล้วนะใช่ไหมคะ?
พี่น้ำน้อย : ใช่ คุณอาจจะต้องมีว่า คุณจะผลิตไฟเองเท่าไหร่ คุณจะต้องใส่ Solar Cell คือไม่ใช่ว่าจะเอาไปใช้ฟรีๆเยอะๆแบบนี้ได้ตลอด คือเวลาเราจะพูดเรื่อง Architecture แบบง่ายๆเนี่ย มันจะมี 2 แนวโน้มคือ Form กับ Function บางทีเราคุยกันเรื่อง Green กัน ในความหมายของผมมันเป็นกลุ่ม Function แต่กลุ่ม Form มันก็อีกกลุ่มนึง ดังนั้นเวลาเราคุยกัน เราก็จะคุยกันในแนวโน้มทั้งสองด้าน ซึ่งเวลาเราคุยแบบนี้มันก็จะง่ายขึ้น

หนึ่ง : โอเครับ ขอคำถามไม่ค่อยเครียดนะครับ (หัวเราะ) คืออย่างพี่น้ำน้อยเนี่ย จบสถาปัตย์ลาดกระบังมา แบบพี่เดียร์อย่างงี้อะครับ พี่น้ำน้อยมีความคิดเห็นยังไงกับสถาปนิกรุ่นใหม่ๆจบจากลาดกระบัง?
พี่น้ำน้อย : ผมจะยังไม่พูดถึงเด็กที่จบจากสถาปัตย์ลาดกระบังนะ เพราะผมไม่ได้สัมภาษณ์เด็กลาดกระบัง พักนี้ผมสัมภาษณ์เด็กที่จะมาเข้าทำงาน สิ่งที่ผมสนใจที่สุดนะของคนที่จะเป็นสถาปนิกได้ ผมถือว่าเนี่ยวิชาชีพคุณ คำว่าวิชาชีพหมายถึงว่า ถ้าคุณเป็นนักร้อง อาชีพคุณคือเป็นนักร้อง คุณต้องรู้จักดนตรีทั้งหมด ร็อค เร็คเก้ สามช่า คุณถึงจะเป็นนักร้องที่เก่ง มีความสามารถ ร็อะไรหลายๆอย่างที่มันเป็นเรื่องรอบๆตัวที่เกี่ยวกับเรื่องเพลง เรื่องดนตรี ถ้าคุณเป็นนักร้องแล้วบอกว่า จะแต่งเพลงแนวสุนทราภรณ์ ในกลุ่มนักร้องบอกว่า มันเป็นยังไงวะ แนวสุนทราภร์ อย่างงี้หมายความว่าไง หมายถึงว่าไอนี่มันไม่รู้เรื่องเลย ว่าดนตรีมันมีแบบไหนบ้าง Architecture ก็เหมือนกัน สถาปนิกก็เหมือนกัน เวลาเราคุยกัน คำถามที่ผมชอบถามคือ สถาปนิกที่คุณชอบปัจจุบันเนี่ย คุณชอบใคร คือถ้าคุณไม่สามารถที่จะตอบได้ว่าคุณชอบใคร หรือว่าพูดถึงงานใครได้เลย ผมก็ถือว่า คุณไม่ได้สนใจอาชีพของตัวเอง เหมือนเวลาเราออกแบบ คนที่สนใจด้านการออกแบบมันจะพูดภาษาๆนึงออกมา คือชื่อสถาปนิก ถูกไหม สมมุติว่าเราบอกว่าออกแบบบ้านหลังนึง เนี่ยสไตล์คล้ายๆอันโดะ จบไหม (หัวเราะ) เราก็จะรู้เลยว่า อ๋อ มันต้องเป็นแบบนี้ มันต้องมีแสง เป็นกล่องๆ มันง่าย มันเป็นภาษาของเราที่เราจะพูด แต่ถ้าเกิดคุณไม่รู้จัก อันโดะ มันเป็นยังไง เอ้า อธิยบายได้ไหม แล้วอธิบายนานกว่าจะรู้ว่ามันเป็นยังไง มันจะใช้เวลามาก อันนี้มันยิ่งกว่านั้น ถ้าเราบอกว่า เอาอันโดะไปผสมกับแกรี่ ถ้ามันไม่รู้สองคนด้วย มันก็จะยิ่งไปกันใหญ่ เพราะนั้นโดยพื้นฐานคนที่จะเป็น Architect คุณต้องรู้จักเรื่องแบบนี้ มันถึงจะทำให้เราคุยกันง่ายขึ้น แต่มันไม่ได้คุยกันแค่ชื่อ ถ้าเราคุยกันไปเรื่อยๆเราก็ต้องคุยกันเรื่องวิธีการทำงานของแต่ละคน เราถึงจะเข้าถึงตัวเนื้องานมากขึ้น เราถึงจะสนุก ส่วนใหญ่ที่ผมสัมภาษณ์มานะ รู้จักไม่ค่อยเยอะ แล้วก็พอไม่รู้ มันก็ทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ค่อย Happy เท่าไหร่ เพราะมันเหมือนกับว่าเรากำลังจะคุยกันไม่รู้เรื่องแล้ว ในเมืองไทยนี้ บางทีเราดูงาน โหนี่แบบ A49 ทั้งที่ไม่ใช่ A49 ออกแบบ ทำไมเราถึงรู้สึกงั้น เพราะเราห็นแล้วรู้แล้วว่าที่นี่มันเป็นยังไง แต่ภาษาเราถ้าผมคุยกันเองเราก็จะเข้าใจง่ายว่ามันก็จะเป็นแบบนี้ ลักษณะแบบไหน มันเป็นรูปลักษณ์อย่างนึง เพราะงั้นเรื่องนี้มันก็เลยจำเป็น งั้นตอนนี้ผมเลยเห็นว่าตอนนี้ถ้าพูดถึงความสนใจในงาน ในวงการสถาปนิกเนี่ย ยังน้อย แต่ถ้าให้ผมพูดถึงเด็กลาดกระบังเนี่ย ผมยังถือว่าผมให้อยู่ในเรนจ์ที่มันอยู่ช่วงบนๆนะ เพราะบางอย่างแล้วไอวิธีการคิด วิธีการทำงานผมยังคิดว่า เค้ายังมีมากกว่าหลายๆที่นะ คือถือว่าใช้ได้ แต่ว่าข้อเดียวที่ผมไม่อยากให้ทิ้งคือเค้าต้องติดตาม มันต้องตามตลอด คือจริงๆ


หนึ่ง : โอเคคับ ตอนนี้พี่น้ำน้อยอยากให้ทางคณะปรับปรุงอะไรไหมครับ เพื่อให้บัณฑิตที่ออกมามีคุณภาพมากกว่านี้อะครับ แบบว่ามีอะไรต้องแก้ไขเรื่องการเรียนการสอนไหม?
พี่น้ำน้อย : คือในแง่วิชาชีพ การเรียนคณะสถาปัตย์ เรียน สถ. ผมถือว่ามันเป็นเรื่องของวิชาชีพที่สถาบันเนี่ยจะต้องรับภาระที่จะต้องสอน แต่วิธีการที่เค้าจะสอนยังไง มันต้องใช้วิธีการวิจัยพอสมควร แต่ว่าทีส่วนใหญ่ผมเจอคือ เด็กลาดกระบังส่วนใหญ่เรื่องความคิดวิเคราะห์เนี่ยมีเป็นพื้นฐานมากกว่าที่อื่นอยู่ แต่ว่าผมไม่รู้ว่าการที่มีแนวความคิดแบบนั้นเป็นเพราะสิ่งแวดล้อมรึเปล่า สิ่งแวดล้อมหมายถึงว่า เนื่องจากว่ามันมีการสอบเอนทรานส์ การสอบเข้าที่มันมีลำดับที่จะต้องใช้คนที่มีความสามารถสูงกว่าที่อื่นอยู่แล้ว ก็เลยทำให้เกิดสิ่งแวดล้อมในทางบวก หรือว่ามันเกิดจากการเรียนการสอน อันนี้ผมไม่รู้ แต่ว่าโดยภาพรวมเนี่ยเด็กที่จบมาก็ยังเป็นเด็กที่มีแนวคิดในเรื่องของการออกแบบอยู่ ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ความคิดผมว่า มันใช้ได้แล้วในความคิดผมง่ายๆพื้นฐาน ใช้ได้แล้วนี่หมายถึงเทียบกับคนอื่นๆ ในมหาลัยอื่นๆ แต่ถามว่า มันน่าจะดีกว่านี้ได้ไหม ผมว่ามันน่าจะดีกว่านี้ได้ แต่ผมคิดว่ามันคงไม่ใช่เรื่องของการเรียนการสอน ผมเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องของการสร้างทัศนะคติในการดำเนินชีวิตที่จะเป็นสถาปนิก ว่าเราจะดำเนินชีวิตให้มันมีความเป็นสถาปนิกยังไง เพราะว่าถ้าเกิดว่าเราสถาปนิก มันสนใจเรื่องอาคาร เราจะทำยังไงให้เราสนใจได้ตลอดเวลา เหมือนนักร้อง มันก็เดินร้องเพลงได้ตลอดเวลา เป็นสถาปนิกแต่มันก็ยังเดินร้องเพลงอยู่ แล้วเวลาทำงานก็ไปนั่งออกแบบ มันก็อาจจะทำให้ทักษะบางอย่างน่าจะดีกว่านี้ มันก็เลยยังไม่ได้

หนึ่ง : คำถามสุดท้ายแล้วครับ พี่น้ำน้อย ช่วยเล่าบรรยากาศตอนเรียนให้ฟังหน่อยได้ไหมครับ แบบว่าตอนเรียนมีวีรกรรมอะไรที่มันเด็ดๆไหมครับ?
พี่น้ำน้อย : ตอนเรียนผมว่า ผมเป็นคนที่ทำกิจกรรมเยอะนะ ผมเคยเป็นประธานฝ่ายปกครอง ประธานฝ่ายปกครองสมัยก่อนนี่คือ เป็นคนที่สรรหาประธานเชียร์ แล้วก็เคยพยายามที่จะรื้อฟื้นว่าทำไมเราต้องมีเชียร์ ทำไมเราต้องร้องเพลง เราต้องหาคำตอบให้ได้ ซึ่งเรื่องแบบนี้มันไม่ใช้แค่เรื่องของรูปแบบ มันต้องคิดถึงเรื่องคอนเซป เรื่องวัตถุประสงค์ เพราะนั้นไอตอนสมัยผม ผมก็พยายามหาเรื่องเก่าๆจากรุ่นพี่มาว่า ทำไมถึงจะต้องมีการร้องเพลง ทำไมถึงจะต้องร้องเพลง แล้วทำไมถึงจะต้องร้องเพลงให้มันเหมือนเดิม ทำไมทุกคนต้องร้องเพลงให้มันเหมือนกัน เพราะมันก็คืออย่างเดียวใช่ไหม ที่ทำให้คนใหม่กับคนเก่า แม้จะจบไปแล้ว 20 ปี ก็สามารถมีอย่างหนึ่งที่เหมือนกันคือการร้องเพลงคณะ แต่ว่าพอตอนหลังมันเกิดการเพี้ยน มีการเปลี่ยนแนวเพลงอะไรตามยุคตามสมัย เปลี่ยนได้แต่ผมว่ามันไม่เหมาะกับคณะ นึกออกไหมคุณร้องเพลงเดียวกับผม แต่ร้องด้วยกันไม่ได้ พอมันไม่เหมือนกัน มันเลยทำให้บรรยากาศของความเป็นพี่น้อง มันห่างกันออกไปนิดนึง แล้วเวลาที่คนจบไปแล้ว 20 ปี กับคนจบเมื่อวาน นั่งร้องเพลงแล้วร้องเหมือนกัน ทำได้ไหม เพราะมันเป็นอย่างเดียว เป็นเชือกบางๆที่มันร้อยให้คนยังต่อกันเป็นพวงเดียวกันได้อยู่

หนึ่ง : แต่ว่าถ้าถามผม ผมว่าเรื่องทำนองเรื่องอะไรเนี่ย มันอาจจะแตกต่าง แต่ถ้าเป็นเรื่องเนื้อ เรื่องความหมายของเพลงมันก็น่าจะยังอยู่นะครับ
พี่น้ำน้อย : คือคุณทำให้มันร้องด้วยกันได้ไหมละ คือคุณทำให้คนละรุ่นคนละสมัย คือคุณมีอะไรที่มากกว่าเพลง แล้วคุณทำให้เค้าสามารถที่จะมีกิจกรรมร่วมกันได้ คืออะไร กินเหล้าใช้ไหม (หัวเราะ) กินเหล้าไม่ต้องพูด ใช่ปะ กินเหล้านี่ยังไงมันก็กินได้ มันก็เลยสมัยนั้นรุ่นผมคิดนะ ผมก็เลยคิดว่าจะทำยังไง ผมก็เลยพยายามที่จะกลับมาให้มันเหมือนเดิม เหมือนที่ทุกคนใช้กันอยู่ คือค่อนข้างจะเคร่งครัดในเรื่องของทำนอง แล้วก็เคยสมัยก่อนมันมีภาควิชา เค้าเรียกว่าเทคโนโลยีการก่อสร้าง ซึ่งตอนนี้มันไม่มี แล้วเค้าก็พยายามห่างออกไป เพราะเค้ามองว่าเค้าไม่เหมือนเรา แต่รุ่นผมก็พยายามที่จะทำให้มันกลับมานะ แต่ว่ามันก็ไม่ได้เข้าเชียร์เลยสักครั้งเดียว แต่มันกลับมาหลังจากเรื่องจบไปแล้ว คือผมใช้เวลาในการอธิบายตลอดเวลาที่เค้าไม่เข้าเชียร์เนี่ย ให้เข้าใจว่าทำไมถึงเข้าเชียร์ เราทำไมถึงต้องทำอย่างงี้ทำอย่างโง้น หมดละ

หนึ่ง : (หัวเราะ) หมดแล้วครับ พี่น้ำน้อยมีอะไรอยากจะฝากเด็กรุ่นปัจจุบันไหมครับ ฝากน้องๆอย่างรุ่นผมที่ยังเรียนอยู่?
พี่น้ำน้อย : คือผมอยากให้คิดว่า การดำเนินชีวิตที่จะเป็นสถาปนิกเนี่ยมันจะต้องมีอะไรบ้าง ไปแยกแยะเป็นข้อๆที่ควรจะเป็น อย่าไปทำให้สิ่งแวดล้อมอื่นๆมาครอบงำ แล้วเราก็ไปทำงานสถาปนิก เหมือนกับช่างกระเบื้อง ถ้าไม่มีกระเบื้องให้ปู มันก็ไม่รู้จะทำอะไร คือผมอยากให้เค้าติดตามวงการ หรือว่าแนวความคิดของคนสถาปนิกอื่นๆเนี่ยให้ต่อเนื่องตลอดเวลา ควรจะมีการได้แลกเปลี่ยนความคิดอะไรกันในเรื่องความคิดในการออกแบบเป็นประจำ เจอกันทีไรก็ได้คุยกันเรื่องนี้บ้างซักเดือนละครั้งนะ

หนึ่ง : ออ โอเคครับ ขอบคุณมากนะครับที่กรุณาสละเวลามาให้ผมสัมภาษณ์ ผมจะเอาข้อคิดของพี่น้ำน้อยไปปรับใช้กับชีวิตสถาปนิกในอนาคตนะครับ ขอบคุณมากครับพี่ 

ปล.ขอขอบคุณ พี่เดียร์ สถ.6 ที่ช่วยติดต่อและมานั่งรับฟังการสัมภาษณ์เป็นเพื่อนนะครับ เลี้ยงชาบูๆ :D